13 เมษายน 2554
5,020 views
เบื้องหลัง… การล่มสลายของอาณาจักร
เบื้องหลัง… การล่มสลายของอาณาจักร
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
ในหนังสือเรื่อง Collapse of an Empire: Lessons for Modern Russia ที่เขียนโดยนายเยกอร์ ไกดาร์ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ที่กล่าวถึงการล่มสลายของอาณาจักรคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นคือ สหภาพโซเวียต หากคุณผู้อ่านได้ติดตามประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นแล้วก็จะพบว่า เหตุการณ์ในปัจจุบันได้เดินซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่วงสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ไกดาร์ได้อธิบายถึงการล่มสลายของอาณาจักรที่เกิดขึ้นจากภายใน มิใช่เกิดจากการรุกรานหรือการแผ่อิทธิพลจากศัตรูภายนอก ไกดาร์พบว่าหลังปี 1975 สหภาพโซเวียตต้องส่งออกน้ำมันไปยังประเทศในฝั่งตะวันตกเพื่อแลกเปลี่ยนกับการนำเข้าอาหารมูลค่าสูงถึง 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนำมาเลี้ยงปากท้องประชาชนชาวโซเวียต หลังปี 1985 เกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันโลกดำดิ่ง รายได้ที่สหภาพโซเวียตได้รับลดลงเหลือเพียง 7 พันล้านดอลลาร์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายทางด้านภาษีที่ล้มเหลวของอดีตประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ? ส่งผลถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เงินเฟ้อสูงขึ้น นำไปสู่การถีบตัวสูงขึ้นของราคาสินค้า และนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดนั่นคือ ปัญหาปากท้องประชาชน สหภาพโซเวียตก็จำต้องล่มสลายในที่สุด ?เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตูนิเซีย (รายละเอียดในกรุงเทพธุรกิจ หน้า11, 1 มีนาคม 54 “ตูนิเซีย…จากคอร์รัปชั่นถึงปากท้องประชาชน”)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ในประเทศในแถบตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือหรือที่เรียกว่า MENA (Middle Eastern and North African countries) สะท้อนให้เห็นถึงการล่มสลายของระบบเผด็จการที่มาในรูปของระบอบประชาธิปไตย ในสามประเทศที่ได้เปลี่ยนผู้นำไปแล้วและกำลังจะเปลี่ยนผู้นำคือ ตูนิเซีย อียิปต์ และลิเบีย? หากพิจารณาการจัดลำดับของสถาบันระหว่างประเทศหลายสำนักในเรื่อง ความเป็นประชาธิปไตย การคอร์รัปชัน และความเป็นอิสระของสื่อ ของทั้งสามประเทศข้างต้น เปรียบเทียบกับสามประเทศในกลุ่มอาเซียนคือ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียก็จะพบว่า การขึ้นครองอำนาจของผู้นำในกลุ่ม MENA นั้นจะอยู่ในอำนาจนานมาก เช่น นายอาลีแห่งตูนิเซียอยู่ในอำนาจ 25ปี นายมูบารัคอยู่นานถึง 32 ปี และกัดดาฟีอยู่จนถึงวันนี้แล้ว 43 ปี เปรียบเทียบกับสามประเทศหลังพบว่า ประธานาธิบดียุทโธโยโนแห่งอินโดนีเซียอยู่นานที่สุดคือ 8 ปี ความแตกต่างของระยะเวลาการครองอำนาจของสามประเทศแรกที่มีระยะเวลานานกว่ามาก จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลโดยตรงกับการขาดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ พูดง่ายๆคือ ยิ่งผู้นำอยู่นาน ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆก็ยิ่งน้อยลง
ประเทศ | ผู้นำ | ครองอำนาจ | ลำดับที่ (ในโลก) | ||
ประชาธิปไตย | คอร์รัปชัน | อิสระของสื่อ | |||
ตูนิเซีย | เบน อาลี | 1987-2011 | 144 | 59 | 186 |
อียิปต์ | ฮอสนี มูบารัค | 1981-2011 | 138 | 98 | 130 |
ลิเบีย | มูอัมมาร์ กัดดาฟี | ตั้งแต่ปี 1969 | 158 | 146 | 192 |
ไทย | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ตั้งแต่ปี 2008 | 57 | 78 | 124 |
มาเลเซีย | นาจิบ ราซัค | ตั้งแต่ปี 2009 | 71 | 56 | 141 |
อินโดนีเซีย | ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน | ตั้งแต่ปี 2004 | 60 | 110 | 107 |
ความเป็นอิสระของสื่อ ก็สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดจากระยะเวลาของการครองอำนาจของผู้นำ พันเอกกัดดาฟีครองอำนาจนานถึง 43 ปีและลิดรอนความเป็นอิสระของสื่อมวลชนอย่างรุนแรง ในการสำรวจความเป็นอิสระของสื่อหรือที่เรียกว่า Freedom of the Press 2010 พบว่า ลิเบียอยู่ในลำดับที่เกือบจะแย่ที่สุดในโลกคือลำดับที่ 192 และมีประเทศที่แย่กว่าลิเบียเพียง 3 ประเทศคือ พม่า เกาหลีเหนือ และเติร์กเมนิสถาน นอกจากนั้นตูนิเซียและอียิปต์ก็อยู่ในลำดับที่ไม่ดีเช่นกัน ส่วนการคอร์รัปชันนั้น สามประเทศแรกแม้ว่าจะมีลำดับที่แย่ และไม่ทิ้งห่างสามประเทศในกลุ่มอาเซียนมากนักก็ตาม แต่ลิเบียและอียิปต์ที่อยู่ในลำดับที่ 146 และ 98 ตามลำดับ ก็สามารถแสดงถึงปัญหาคอร์รัปชันที่มาจากการกอดเก้าอี้ผู้นำประเทศเป็นเวลานานเกินไป
จริงหรือไม่… การล่มสลายของอาณาจักรหรือการล่มสลายของการปกครองของผู้นำแต่ละคนนั้นจะมาจาก ความไม่เป็นประชาธิปไตย การคอร์รัปชัน และการขาดอิสรภาพของสื่อมวลชน ในความเป็นจริงแล้ว..สาเหตุทั้งสามข้อนี้ได้ก่อให้เกิดอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายของอาณาจักรนั้นๆ ?ปัญหาปากท้องประชาชนก็เกิดขึ้นมาจากปัญหาการคอร์รัปชัน ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำประเทศของตนได้ และการปิดหูปิดตาสื่อมวลชนไม่ให้เผยแพร่ความยากลำบากของประชาชนในการดำรงชีพ ในการสำรวจอัตราการว่างงานโดยองค์กรแรงงานแห่งอาหรับ (Arab Labour Organization) ในปี 2007-2008 พบว่าอัตราการว่างงานในโลกอาหรับสูงถึง 14.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราว่างงานของโลกซึ่งอยู่ที่ 5.7 เปอร์เซ็นต์ จึงนับว่าสูงมาก นอกจากนั้นยังพบต่อไปอีกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในโลกอาหรับมีอายุน้อยกว่า 30 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ คนจำนวนมากอยู่ในวัยทำงานแต่ไม่มีงานให้ทำ… ไม่มีอาหารให้กิน… และไม่มีอีกหลายอย่างที่จำเป็นในการดำรงชีวิต สถานการณ์จึงบีบบังคับให้เกิด “วีรบุรุษ” อย่างเช่น โมฮัมหมัด โบอาซิซิ วีรบุรุษแห่งตูนิเซีย ผู้ให้กำเนิดจัสมินเร็ฟโวลูชัน
คุณผู้อ่านหลายท่านคงจะได้มีโอกาสดูหนังโรงที่มีชื่อว่า “Spiderman” หรือ “ไอ้แมงมุม ภาค 1″ พระเอกในเรื่องมีลุงอยู่คนหนึ่งที่มีชื่อว่า ลุงเบน ในตอนหนึ่งของหนัง…ลุงเบนได้สอนสไปเดอร์แมนว่า “With great power comes great responsibility” แปลง่ายๆว่า “อำนาจที่ยิ่งใหญ่นั้น..จะมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่”? ผู้นำในตะวันออกกลางเหล่านั้นคงจะไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ จึงขึ้นครองอำนาจโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อปากท้องของประชาชนของประเทศตน หากพวกเขาได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้แล้ว…ก็คงจะไม่เกิดเหตุการณ์ล่มสลายของการปกครองของผู้นำเหล่านี้ อย่างที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.