doctorwe.com

Dr.Weraphong Chutipat   A Columnist

Fanpage 828_315
  • ล่าสุด
  • บทความ
  • แจกฟรี
  • การอบรม
  • ชม+ฟัง
  • ผู้เขียน


  • A A A
    • พ.ศ. :
    • 2563
    • 2562
    • 2561
    • 2560
    • 2559
    • 2558
    • 2557
    • 2556
    • 2555
    • 2554
      เดือน :
    • ม.ค.
    • ก.พ.
    • มี.ค.
    • เม.ย.
    • พ.ค.
    • มิ.ย.
    • ก.ค.
    • ส.ค.
    • ก.ย.
    • ต.ค.
    • พ.ย.
    • ธ.ค.

    10 มิถุนายน 2554

    5,208 views

    กลยุทธ์เผด็จการสมัยใหม่…ของ ตาน ฉ่วย

    พิมพ์หน้านี้

    กลยุทธ์เผด็จการสมัยใหม่…ของ ตาน ฉ่วย

    ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

    ในหนังสือเรื่อง “Tan Shwe: Unmasking Burma’s Tyrant” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ตานฉ่วย: กระชากหน้ากากทรราชแห่งพม่า” ที่เขียนโดย นาย Benedict Rogers หนึ่งในผู้นำขององค์กร Christian Solidarity Worldwide (CSW) โดยเนื้อหาใจความจะบรรยายถึงชีวประวัติของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้มีอำนาจสูงสุดในสหภาพพม่า ที่มีชีวิตหรูหราบนความทุกข์ลำเค็ญของประชาชนชาวพม่า ตาน ฉ่วยเกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1933 ( 78 ปี) ที่เมืองจอกเส พ่อแม่มีอาชีพทำไร่มีฐานะยากจน พออายุได้ 10 ขวบ พ่อตาย แม่จึงไปมีสามีใหม่ซึ่งเป็นคนอิสลาม เนื่องจากมีหน้าตาเหมือนแขก และมีพ่อบุญธรรมเป็นคนอิสลาม จึงมักจะถูกล้อเลียนว่าเป็น “ไอ้ลูกแขก”

    ตาน ฉ่วย ในวัยเยาว์ จะเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย และไม่ค่อยมีเพื่อน แต่มีคุณสมบัติเด่นคือ เป็นคนรักษาคำพูด และสุขุมรอบคอบมากจนถึงขนาดเรียกได้ว่า ระแวงตลอดเวลา ตาน ฉ่วยเป็นเด็กเรียนหนังสือดี แต่ด้วยความยากจนจึงทำให้เขาต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่อออกมาทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัว พออายุได้ 18 ปีจึงกลับไปเรียนใหม่และสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปลาย ตาน ฉ่วยพยายามดิ้นรนที่จะผลักดันอนาคตตัวเองโดยไปสอบโรงเรียนนายร้อย แต่สอบเข้าได้เพียงเป็นนายร้อยสำรองและสำเร็จการศึกษาออกมาในยศร้อยตรี แม้ว่าตาน ฉ่วยจะไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยโดยตรง แต่ด้วยความพยายามในการทำงานอย่างหนักและเป็นระบบ ทำให้ตาน ฉ่วยสามารถไต่เต้าขึ้นตำแหน่งต่างๆในหน้าที่การงานได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ตำแหน่งผู้บังคับหมวดปฏิบัติงานสงครามจิตวิทยา ผู้อำนวยการสถาบันการเมืองและวิทยาศาสตร์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ของเมืองเชียงตุง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 88 ผู้บังคับบัญชาการภาคของทหารบกในภาคตะวันตกเฉียงใต้และมณฑลอิระวดี และก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบกคือ ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกในปี 1990

    กลยุทธ์ในการประสพความสำเร็จอย่างรวดเร็วของตาน ฉ่วย คือ เขาเป็นคนขาดเสน่ห์ในการทำงานด้วย เขาไม่มีความทะเยอทะยาน และไม่มีพรสวรรค์หรือความสามารถที่เด่นชัด เขาไม่มีอะไรเลยจวบจนกระทั่งเขากลายเป็นบุคคลหมายเลขหนึ่งของพม่า ตาน ฉ่วย จะเก็บความทะเยอทะยานของตนไว้อย่างเงียบเชียบ ไม่แสดงออกซึ่งความสามารถใดๆ ออกมาเลย ทั้งหมดที่ตาน ฉ่วยมีคือความจงรักภักดีเท่านั้น คุณสมบัติดังกล่าวตรงกับสิ่งที่นายพลเนวินผู้นำของพม่าในขณะนั้นต้องการมากที่สุด เนวินเป็นคนที่ให้คุณค่าแก่ความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนั้นเนวินยังเป็นคนที่เกลียดคนเก่ง เขาจะไม่ชอบนายทหารที่มีความสามารถมาทำงานให้เขา เพราะเนวินเชื่อว่าคนที่เก่งอาจจะเป็นภัยคุกคามเขาได้ในอนาคต และในช่วงเวลานั้นมีหลายๆคนพยายามที่จะวางแผนโค่นล้มอำนาจเขา ดังนั้นตาน ฉ่วยจึงเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เนวินมองตาน ฉ่วยว่าเป็นนายทหารที่ธรรมดาๆคนหนึ่ง ไม่มีความสามารถที่เด่นชัด ไม่มีสีสันและไม่มีความประทับใจในการร่วมทำงานด้วย แต่ตาน ฉ่วยมีความจงรักภักดีและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาทุกกระเบียดนิ้ว ตาน ฉ่วยจึงถูกมองว่าจะไม่เป็นภัยคุกคามใดๆ ต่อการครองอำนาจของนายพลเนวิน นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไม..ตาน ฉ่วยจึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา

    กลยุทธ์อีกข้อหนึ่งที่ ตาน ฉ่วย มักใช้ในการทำงานก็คือ “การเก็บตัวเงียบ และดึงเวลาให้เนิ่นนานออกไป” การกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง โดยรัฐบาลทหารของพม่าสั่งกักบริเวณนางซูจีตั้งแต่ปี 1989 ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในพม่า โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบั่นทอนความนิยมของพรรค NLD ของนางซูจี และดึงเวลาให้เนิ่นนานออกไปมากที่สุด นางซูจีจึงถูกกักบริเวณเป็นระยะๆจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 2010 รวมแล้วเป็นเวลาในการถูกกักบริเวณนานถึง 15 ปี ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา อีกตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดคือ ต้นปี 1992 ตาน ฉ่วยขึ้นดำรงตำแหน่งนายพลอาวุโส ประธาน “สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ” หรือ “สลอร์ค” (The State Law and Order Pestoration Council ; SLORC) และผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั่นคือการยึดกุมอำนาจรัฐทั้งหมดไว้ในอุ้งมือของเขา หลังจากนั้นเพื่อลดความกดดันของประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย จึงได้จัดให้มีการประชุมระดับชาติในหัวข้อ “การประชุมเพื่อจัดระเบียบประชาธิปไตยใหม่” โดยการเชิญผู้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ชนเผ่าต่างๆ และผู้ด้อยโอกาส การจัดประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์สองข้อคือ หนึ่ง เปิดโอกาสให้เกือบทุกภาคส่วนเข้าร่วมและคลายความกดดันในการเรียกร้องประชาธิปไตย สอง แสดงให้นานาชาติเห็นว่ามีการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อย่างไรก็ตามการประชุมดังกล่าวถูกลากยาวให้กินเวลานานถึง 14 ปี ซึ่งเป็นเวลาให้ตาน ฉ่วยและพรรคพวกสามารถเสวยสุขและลาภยศ

    กลยุทธ์ “การสร้างภาพที่ยิ่งใหญ่” หนึ่งในข่าวที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกของ ตาน ฉ่วยคือ งานแต่งงานของตานดาร์ ฉ่วย ลูกสาวของตาน ฉ่วย ที่จัดขึ้นอย่างหรูหราอลังการ พร้อมภาพเจ้าสาวร่างท้วมในชุดผ้าไหม ประดับด้วยที่ติดผมและสร้อยคอฝังเพชรเม็ดโต (ดูได้ที่ Than Shwe’s daughter wedding: http://www.youtube.com/watch?v=s6YPsycc6Lc) โดยงานดังกล่าว ตาน ฉ่วยได้มอบหมายให้นายโล ฮัน ซิงเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับอาหารของงาน นายโลเป็นหนึ่งในเจ้าพ่อเฮโรอีน และได้แปลงโฉมเป็นนักธุรกิจของกรุงย่างกุ้งไปแล้ว ปัจจุบันเขาเป็นประธาน Burma’s Asia World ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในโรงแรม Traders ที่มีชื่อเสียงของกรุงย่างกุ้ง คนที่ควักกระเป๋าจ่ายเงินในงานนี้อีกคนหนึ่งคือ นายเต ซา ประธานบริษัท ฮัตตู เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาล ในการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน และบริษัทผลิตเฮลิคอปเตอร์ งานแต่งงานอันยิ่งใหญ่หรูหราอลังการในครั้งนี้ ทำให้เป็นที่โจษจันและกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นการแสดงถึงบารมีของตาน ฉ่วยที่จะทำให้ประชาชนพม่าทราบถึงความยิ่งใหญ่ของเขาที่ไม่มีผู้ใดจะสามารถมาเสมอเหมือนได้

    กลยุทธ์ “การไม่เผชิญหน้า” ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของตาน ฉ่วย ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากกับกัดดาฟีผู้นำลิเบียที่มักจะออกมาเรียกร้องให้ผู้คนเข้าปราบปรามฝ่ายต่อต้าน แต่ตาน ฉ่วยกลับเลือกใช้กลยุทธ์การไม่เผชิญหน้าแทน เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา พม่าได้มีรัฐบาลที่มาจากพลเรือนชุดใหม่ที่นำโดยพลเอกเต็ง เส่ง ในขณะเดียวกันตาน ฉ่วยก็ลงนามยุบสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ซึ่งทำให้ในปัจจุบันตาน ฉ่วยไม่มีตำแหน่งใดๆในรัฐบาลชุดใหม่เลย อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์จากสำนักข่าวต่างประเทศกลับมองว่า ตาน ฉ่วยจะยังเป็นผู้ชี้นำและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่อยู่ดี โดยไม่จำเป็นที่จะต้องออกหน้าหรือเผชิญหน้ากับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย (ลักษณะคล้ายๆกับพรรคการเมืองบางพรรคในบ้านเรานะครับ) พอฟังว่า ตาน ฉ่วย ยังไงๆก็จะกลับมาคุมบังเหียนรัฐบาลชุดปัจจุบันของพม่าอยู่ดี ทำให้หวนนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ฉายในโรงหนังที่มีชื่อว่า “The TERMINATOR” หรือ “คนเหล็ก ภาค1″ ซึ่ง Arnold Schwarzenegger แสดงเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ที่ตามมาฆ่านางเอก ในหนังมีตอนหนึ่งที่คนเหล็กพูดว่า “I’ll be back” ซึ่งมีความหมายในหนังว่า “กูจะกลับมาจองล้างจองผลาญมึง” ทำให้คิดต่อไปว่า… ตอนนี้ตาน ฉ่วยอาจจะคิดว่าตนเองเป็นคนเหล็ก และจะต้องกลับมาจองล้างจองผลาญฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยให้เป็นจุนเหมือนในหนังก็เป็นได้

    พิมพ์หน้านี้

    ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

    5,208 views  711 Comments

    Posted Under กรุงเทพธุรกิจ

    No Comments Yet

    You can be the first to comment!

    Sorry, comments for this entry are closed at this time.

      • 10 อันดับ
      • Facebook
      • Twitter

      บทความที่โพสต์ขึ้นเฟสบุ๊ค เมื่อคืนนี้เอาขึ้นเว็บแล้วนะครับสนใจคลิกที่... http://t.co/ylMslUNy

      follow me on
      twitter

    •  
    • Subscribe Email


       

    • Polls Sorry, there are no polls available at the moment.
    • Tag Cloud
      CSR GDP IMF กรีซ การลงทุน ครัวโลก ความรู้นักลงทุน ความเป็นอิสระทางการเิงิน คอร์รัปชัน ค่าแรง ตาน ฉ่วย ทองคำ ธนินทร์ เจียรวนนท์ น้ำท่วม 2554 บัตรเครดิต ประชาธิปไตย พม่า พื้นที่ทับซ้อน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยุโรป วิกฤตซับไพรม์ วิธีบริหารกองทุน วีรพงษ์ ชุติภัทร์ สหรัฐอเมริกา หนองหว้า หนี้สาธารณะ หมู่บ้านเกษตรกรรม หมู่เกาะสแปรตลีย์ หุ้น หุ้นแอปเปิ้ล หุ้นโกดัก อาเซียน อิสรภาพทางการเงิน อเมริกา เจริญโภคภัณฑ์ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เผด็จการ เล่นหุ้น เศรษฐกิจไทย แมคอินทอช แอปเปิ้ล โกดัก โซเวียต ไอเอ็มเอฟ ไอแพด 2
    • สถิติบล็อก
      • 2485129เข้ามาอ่านทั้งหมด:

    This site is using the Handgloves WordPress Theme
    Designed & Developed by George Wiscombe

    Subscribe via RSS