14 พฤษภาคม 2554
5,168 views
เวเนซุเอลา… ประชานิยมขั้นเทพ.. จะไปรอดไหม ??
Post Today
คอลัมน์: ยุทธศาสตร์…ประเทศไทย
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
www.thaigoodgovernance.org
เวเนซุเอลา… ประชานิยมขั้นเทพ.. จะไปรอดไหม ??
เวเนซุเอลา ประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกาได้สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้ทั้งโลกต้อง “ทึ่ง” ในนโยบายการบริหารประเทศเทียบกับผลลัพธ์ที่ออกมา ในการสำรวจและจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นอยู่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2553 ของสำนักกัลลัปโพลซึ่งเป็นสำนักจัดอันดับโพลชื่อดังของโลกพบว่า เวเนซุเอลามาในอันดับที่ 6 เป็นรองจาก เดนมาร์ก สวีเดน แคนาดา ออสเตรเลีย และฟินแลนด์เท่านั้น นอกจากนั้นยังเหนือกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งมาในอันดับที่ 12 โดยกัลลัปได้ใช้วิธีการสำรวจโดยการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวและสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จำนวนประมาณ 1,000 คนในแต่ละประเทศ จากนั้นจึงให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ให้คะแนนฐานะความเป็นอยู่ของเขาทั้งในปัจจุบันและอนาคต แล้วนำผลคะแนนมาจัดเป็น 3 กลุ่มคือ “รุ่งเรือง” “ดิ้นรน” และ “ยากลำบาก” ซึ่งพบว่าประชาชนในเวเนซุเอลาตอบว่า ประเทศของตนอยู่ในภาวะรุ่งเรืองสูงถึงร้อยละ 64 ตามตาราง
การจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นอยู่ดีที่สุดในโลก |
||||
ลำดับที่ |
ประเทศ |
“รุ่งเรือง” |
“ดิ้นรน” |
“ยากลำบาก” |
1 |
เดนมาร์ก |
72% |
27% |
1% |
6 |
เวเนซุเอลา |
64% |
32% |
4% |
12 |
สหรัฐอเมริกา |
59% |
38% |
3% |
34 |
ไทย |
37% |
60% |
3% |
68 |
อินโดนีเซีย |
19% |
73% |
8% |
72 |
มาเลเซีย |
17% |
79% |
4% |
120 |
กัมพูชา |
3% |
74% |
23% |
ที่มา: สำนักสำรวจและจัดอันดับ กัลลัปโพล, 19 เมษายน 2554
http://www.gallup.com/poll/147167/High-Wellbeing-Eludes-Masses-Countries-Worldwide.aspx#2 |
ฮิวโก ชาเวซ ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลาคนปัจจุบัน เขาเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจเชิงประชานิยมที่เข้มแข็งที่สุดคนหนึ่งของโลก ชาเวซเกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ( 57 ปี) เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจนในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งของเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตามเนื่องจากพ่อและแม่มีอาชีพเป็นครู เขาจึงมีโอกาสได้เรียนสูงจนกระทั่งสามารถได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนนายทหารเมื่อปี 2514 ระหว่างเรียนชาเวซได้มีโอกาสเห็นความยากจนและความอยุติธรรมที่เป็นเสมือนโรคระบาดที่แพร่กระจายอย่างรุนแรงไปในกลุ่มผู้ใช้แรงงานของเวเนซุเอลา ทำให้เขาเกิดความคิดที่อยากจะแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน ชาเวซชอบที่จะศึกษาเกี่ยวกับแนวทางทางการเมืองโดยเฉพาะหนังสือของ คาร์ล มาร์กซ์ และ เช กูวารา ด้วยความคิดดังกล่าวทำให้ในปี 2535 ชาเวซได้ร่วมกับเพื่อนนายทหารทำการรัฐประหารแต่ล้มเหลว ในปี 2541 ชาเวซได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา ด้วยบุคลิกขวานผ่าซากและจริงใจประกอบกับนโยบายที่จะปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเสียงสูงถึงร้อยละ 56.20 ของคะแนนเสียงทั้งหมด
หลังจากได้เป็นประธานาธิบดี ชาเวซได้สนับสนุนกิจกรรมด้านประชานิยมอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ก่อตั้งสหกรณ์แรงงานขึ้นมากกว่า 100,000 แห่ง เพื่อช่วยเหลือเรื่องการกู้หนี้ยืมสินของคนงานโดยได้รับเงินตั้งต้นจากรัฐบาล สนับสนุนการสร้างบ้าน 2 ล้านหลังภายใน 7 ปี ส่งทหารกว่า 70,000 นายออกไปซ่อมแซมถนนและสาธารณูปโภค การขึ้นค่าจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง และการสัญญาจะสร้างงานมากกว่า 3 ล้านตำแหน่งในระยะเวลา 8 ปี เป็นต้น ทุกนโยบาย… ทุกงบประมาณ… ทุกสิ่งทุกอย่าง มุ่งสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ประชาชนเวเนซุเอลาจึงรักและศรัทธา ฮิวโก ชาเวซ
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาเป็นเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก โดยเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 55 ของงบประมาณประเทศ และเป็นร้อยละ 30 ของมวลรวมผลิตภัณฑ์ประเทศ (GDP) ดังนั้นการขึ้นลงของราคาน้ำมันจึงส่งผลอย่างมหาศาลต่อความเป็นอยู่ของคนเกือบทั้งประเทศ ในช่วงปี 2549-2551 ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้นทำให้ GDP พุ่งขึ้นไปร้อยละ 10 ร้อยละ 8 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ แต่ในช่วงปี 2552-2553 ราคาน้ำมันตกลงอย่างมาก ทำให้ GDP ในปี 2552 ลดลงอย่างมากที่ร้อยละ -3.3 และปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ -2.8 และอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศพุ่งเป็นร้อยละ 27.1 และร้อยละ 29.8 ตามลำดับ ประชาชนจึงไม่สามารถใช้เงินที่มีอยู่ซื้อสินค้าที่มีราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมราคาสินค้า..ชาเวซจึงแก้ไขปัญหาโดยการเข้าไปยึดโรงงานและกิจการของภาคเอกชนมาเป็นของรัฐเพิ่มขึ้นและควบคุมราคาขายของสินค้านั้นๆ ซึ่งเป็นการทำร้ายบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศอย่างรุนแรงและนำไปสู่การลดประสิทธิภาพการผลิต บริษัทต่างชาติจึงยกเลิกกิจการและถอนการลงทุนออกจากเวเนซุเอลา ดังนั้นผลผลิตที่ออกมาจึงลดลงเรื่อยๆ และทำให้การส่งออกสินค้าลดลงด้วย ในที่สุดการส่งออกผลผลิตอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันจึงแทบจะหดหายไปเลย น้ำมันจึงกลายเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของประเทศไปและมีอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 92 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศ
แต่ปัญหาที่โถมกระหน่ำชาเวซก็ยังไม่สิ้นสุด ต้นปี 2553 ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังรุนแรงและคุกคามความเป็นอยู่ของชาวเวเนซุเอลาอยู่ดี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว…ชาเวซจึงประกาศอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ 2.6 โบลิวาร์ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐสำหรับการนำเข้าสินค้าประเภทปัจจัยสี่และสินค้าจำเป็น และอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ 4.3 โบลิวาร์ต่อดอลลาร์สำหรับการนำเข้าสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ปัญหาที่ตามมาคือ เกิดตลาดมืดที่ยอมให้เงินมากกว่าเป็นเท่าตัวสำหรับการแลกเงินดอลลาร์ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆจึงพยายามขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหรือขึ้นราคาขายสูงลิ่วในสกุลเงินโบลิวาร์ ชาเวซจึงแก้เกมส์โดยปิดตลาดมืดที่ให้แลกเปลี่ยนเงินตราทั้งหมด และประกาศบทลงโทษอย่างรุนแรงโดยจำคุกถึงสูงถึง 7 ปีสำหรับผู้ค้าเงินตราดังกล่าว
แก้ปัญหาหนึ่ง…ก็จะเกิดอีกปัญหาหนึ่ง… หลังจากการแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้ต่างชาติไม่เชื่อถือในค่าเงินโบลิวาร์และไม่ยอมขายสินค้าให้แก่เวเนซุเอลา และเวเนซุเอลาเองก็ขาดแคลนเงินตราสกุลหลักๆเพื่อนำไปซื้อสินค้าที่จำเป็น ชาเวซจึงแก้ปัญหาโดยการยืมเงินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 12 พันล้านดอลลาร์และจ่ายคืนเป็นน้ำมันให้ ชาเวซยังต้องซื้อสินค้าจำเป็นจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นนมผง ผ้าอนามัย และอาหาร โดยใช้น้ำมันเป็นตัวแลกเปลี่ยนเช่นกัน
ดูเหมือนว่า…ทุกอย่างของเวเนซุเอลาและชาเวซจะขึ้นอยู่กับน้ำมัน นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่า หากราคาน้ำมันยังมีราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบาร์เรลแล้ว มูลค่าการส่งออกของเวเนซุเอลาจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีจำนวนกว่า 11 พันล้านดอลลาร์ การนำเข้าสินค้าจำเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และยังสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไปอีก 2 ปี แต่หากราคาน้ำมันต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ธนาคารชาติแห่งเวเนซุเอลาก็ยังมีเงินตราต่างประเทศและทองสำรองมูลค่ากว่า 22.5 พันล้านดอลลาร์ พร้อมกับสินทรัพย์ที่ไม่ระบุที่มาอีกกว่า 7.5 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ยังไม่ได้ประเมินต่อไปว่า หากราคาน้ำมันตกลงเป็นระยะเวลานานกว่านั้นแล้ว.. อะไรจะเกิดขึ้น เพราะในปัจจุบันทั้งประเทศเวเนซุเอลาไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย.. นอกจากน้ำมัน แต่ประชาชนชาวเวเนซุเอลาก็ยังมั่นใจและมั่นคงอย่างเหนียวแน่นใน ประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซ ของเขา ตามที่สะท้อนให้เห็นจากผลการสำรวจของกัลลัปโพลข้างต้น ทำให้นึกถึงคำพูดของ Dr.Wayne Dyer ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “The Power of Intention” ที่ว่า “The Past is over and gone. The future is not guaranteed” แปลตามความได้ว่า “อดีตกำลังจะหมดและจากไป อนาคตไม่มีใครรับประกันได้” ตอนนี้ชาวเวเนซุเอลาคงจะกำลังสบายใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่ามันจะค่อยๆกลายเป็นอดีตไปก็ตาม ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก็อาจไม่เป็นเหมือนวันนี้ และไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่าจะเหมือนวันนี้.. แม้แต่คนที่ชื่อ ฮิวโก ชาเวซ
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.