doctorwe.com

Dr.Weraphong Chutipat   A Columnist

Fanpage 828_315
  • ล่าสุด
  • บทความ
  • แจกฟรี
  • การอบรม
  • ชม+ฟัง
  • ผู้เขียน


  • A A A
    • พ.ศ. :
    • 2563
    • 2562
    • 2561
    • 2560
    • 2559
    • 2558
    • 2557
    • 2556
    • 2555
    • 2554
      เดือน :
    • ม.ค.
    • ก.พ.
    • มี.ค.
    • เม.ย.
    • พ.ค.
    • มิ.ย.
    • ก.ค.
    • ส.ค.
    • ก.ย.
    • ต.ค.
    • พ.ย.
    • ธ.ค.

    21 พฤษภาคม 2554

    3,280 views

    จากไอแพด 2 …ถึงฟ็อกซ์คอนน์ …และถึงแรงงานไทย

    พิมพ์หน้านี้

    คอลัมน์: ยุทธศาสตร์…ประเทศไทย

    จากไอแพด 2 …ถึงฟ็อกซ์คอนน์ …และถึงแรงงานไทย

    ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

    ตอนนี้ในเมืองไทยยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังตื่นเต้นกับการเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อซื้อ “ไอแพด 2″ ผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของบริษัทแอปเปิล ไอแพด 2 นับได้ว่าเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ตัวเลขยอดขายของไอแพด 2 ทั้งโลกไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่คาดการณ์ว่าขายได้ครบหนึ่งล้านเครื่องไปแล้วภายในสัปดาห์แรกที่ออกจำหน่าย ซึ่งทำลายสถิติของไอแพด 1 ที่ขายได้ครบหนึ่งล้านเครื่องภายใน 28 วันแรกที่เปิดขาย ความสำเร็จของแอปเปิลยังสะท้อนได้จากผลงานในปี 2553 ด้วยยอดขายกว่า 1.96 ล้านล้านบาท (คาดว่าพอๆกับเงินที่รัฐบาลไทยจัดเก็บได้ทั้งหมดในปี 2554) และกำไรขั้นต้นประมาณ 0.77 ล้านล้านบาท พร้อมกับการเป็นบริษัทที่ได้รับความชื่นชมมากที่สุดในโลกเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน

    ก่อนที่บริษัทแอปเปิลจะประสพความสำเร็จได้ในระดับสุดยอดเช่นในปัจจุบันนั้น ผมอยากจะพาคุณผู้อ่านย้อนกลับไปดูความเป็นมาของหนึ่งในผู้ก่อตั้งและปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทแอปเปิลไปแล้ว เขาผู้นั้นคือ สตีฟ จ๊อบส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแอปเปิลนั่นเอง บริษัทแอปเปิลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 โดยมีจ๊อบส์และเพื่อนอีกสองคนเข้าหุ้นกัน จากนั้นมาแอปเปิลก็ประสพทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวอย่างมากมาย จนในปี 2540 คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งให้จ๊อบส์เป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิล จ๊อบส์ก็ได้เปลี่ยนแอปเปิลให้เป็นบริษัทที่สามารถผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะความถนัดทางด้านซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดีย จึงทำให้แอปเปิลฟื้นตัวและกลับมามีกำไรในปีเดียวกัน ในปี 2544 แอปเปิลได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยตรงเป็นครั้งแรกโดยมีชื่อว่า “ไอพอด” ไอพอดเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงขนาดเล็กที่พกพาไปไหนมาไหนได้ ในปี 2547 แอปเปิลเปิด “ไอจูนส์มิวสิคสโตร์” โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้ามาดาวน์โหลดเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตได้ในราคาเพียง 30 บาทต่อเพลง และกลายเป็นร้านขายเพลงออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว ในปี 2550 จ๊อบส์เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ จำกัด” ไปเป็น “บริษัทแอปเปิล จำกัด” ซึ่งแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจากนี้ไปแอปเปิลจะไม่ทำแค่คอมพิวเตอร์เท่านั้น จากนั้นมาแอปเปิลก็ออกผลิตภัณฑ์สุดยอดตามมาอีกหลายตัวไม่ว่าจะเป็นไอโฟน แอปเปิลทีวี และไอแพด เป็นต้น ความสำเร็จของแอปเปิลสะท้อนได้จากราคาหุ้นในปี 2547 ที่ 180 บาทต่อหุ้น ก้าวกระโดดไปถึง 10,500 บาทต่อหุ้นในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 60 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี

    “ข่าวดีสำหรับผู้ถือหุ้นแอปเปิล …กลายเป็นข่าวร้ายสำหรับคนอเมริกัน” กล่าวคือ แม้ว่าบริษัทในประเทศตนจะเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เลอเลิศที่ทำเงินมหาศาลดังกล่าว แต่เนื่องจากความต้องการต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด แอปเปิลและอีกหลายบริษัทจึงย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆอย่างมหาศาลและต่อเนื่อง จนทำให้เกิดคนว่างงานจำนวนมหาศาลในสหรัฐอเมริกา โดยพบว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกได้ทำสถิติสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกามาด้วยตัวเลข 650,000 รายในเดือนเมษายน 2552 และตัวเลขดังกล่าวลดลงแตะระดับ 474,000 รายเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งยังนับว่ายังอยู่ในอัตราที่สูงมาก และมีแนวโน้มว่าอัตราคนว่างงานในอเมริกาจะยังคงสูงต่อไปเป็นทศวรรษ ตราบใดก็ตามที่คนงานอเมริกันส่วนใหญ่ยังไม่สามารถพัฒนาให้ตนเองมีทักษะฝีมือแรงงานไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงได้

    หนึ่งในโรงงานที่ได้รับความนิยมในการย้ายฐานการผลิตไอพอด ไอโฟน รวมทั้งไอแพดไปก็คือ โรงงานที่มีชื่อว่า “ฟ็อกซ์คอนน์” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2517 ขณะนั้นมีชื่อว่า บริษัทฮอนไฮพรีซิชันอินดัสเทรียล จำกัด ในไต้หวัน และใช้ชื่อทางการค้าว่า “ฟ็อกซ์คอนน์” และชื่อนี้ได้กลายเป็นชื่อติดปากเมื่ออ้างถึงบริษัทแห่งนี้ ในปี 2531 ฟ็อกซ์คอนน์ได้เข้าไปตั้งโรงงานแห่งแรกในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เมืองเซินเจิ้น โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่มากสามารถรองรับพนักงานได้สูงถึง 450,000 คน ในโรงงานมีสถานที่อำนวยความสะดวกมากมาย อาทิเช่น หอพัก ร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร ภัตตาคาร ร้านหนังสือ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาล ด้วยความพร้อมสรรพของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในโรงงานน่าจะทำให้คนงานของฟ็อกซ์คอนน์มีความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎระเบียบในโรงงานมีความเข้มงวดสูง อาทิเช่น การห้ามพูดระหว่างทำงาน ถ้าคนงานคนไหนพูดก็จะถูกหักคะแนนสำหรับผลงานของตน และมีบางคนถูกปรับเงินอีกด้วย คนงานของฟ็อกซ์คอนน์มักจะต้องทำงานล่วงเวลาเฉลี่ยสัปดาห์ละ 100-120 ชั่วโมง คนงานของฟ็อกซ์คอนน์จะสามารถเข้าห้องน้ำได้เพียง 10 นาทีทุกๆ 2 ชั่วโมง การยืนทำงานเกือบจะต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ชั่วโมง รวมทั้งการอาศัยอยู่ในหอพักคนงานที่มีความแออัดสูง โดยห้องๆหนึ่งจะมีคนงานอยู่ด้วยกันประมาณ 8-10 คน แต่คนงานแต่ละคนของโรงงานนี้จะได้รับเงินเดือนเพียง 900 หยวนหรือประมาณ 4,500 บาทเท่านั้น

    สิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจของคนงานของฟ็อกซ์คอนน์มากที่สุดคือ พวกเขาอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ …อยู่ในวัยที่อยากสังคม …แต่พวกเขากลับไม่มีเพื่อน …ไม่มีแฟน และไม่มีคนรู้ใจ เนื่องจากกฎระเบียบที่กีดกัน การทำงานที่จำเจน่าเบื่อหน่ายและต้องทำงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งหมดนี้ทำให้คนงานของฟ็อกซ์คอนน์เป็นโรคซึมเศร้า …ไม่มีทางออก จนในที่สุดก็นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ในปี 2552 ผู้จัดการหนุ่มของโรงงานฆ่าตัวตายโดยมีสาเหตุมาจากการที่เขาทำเครื่องต้นแบบไอโฟน 4 หาย ตามมาด้วยปี 2553 เกิดการฆ่าตัวตายของคนงานเป็นจำนวนมาก แต่ที่ตายจริงๆพบว่ามีทั้งหมด 14 ราย ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมสินค้าดีๆอย่าง ไอแพด ไอโฟน และอื่นๆ จึงเข้าแถวย้ายฐานการผลิตไปสู่โรงงานนรกเหล่านี้ ด้วยนโยบายที่ว่า “ประสิทธิภาพสูงสุด …ค่าจ้างถูกสุด …ชีวิตคนงานจะเป็นผักเป็นปลา …ก็ช่างหัวมัน”

    ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ในประเทศของเรากำลังหาเสียงอยู่อย่างขะมักเขม้น โดยบางพรรคหาเสียงว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ บางพรรคจะปรับให้เป็น 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท (แต่ไม่ได้สัญญาว่า… จะมีงานทำหรือเปล่า ??) โดยยังไม่เห็นนโยบายการยกระดับความรู้ความสามารถของคนงานของเราที่เป็นรูปธรรมเลย ทำให้นึกถึงคำพูดของสตีฟ จ๊อบส์ ที่ว่า “Innovation distinguishes between a leader and a follower.” แปลความได้ว่า “นวัตกรรมเท่านั้น ..ที่จะเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างผู้นำกับผู้ตาม” ผมเองไม่เคยคิดว่าแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศมีทักษะพอที่จะผลิตนวัตกรรมเพื่อยกฐานะในการที่จะได้รับค่าแรงงานในอัตราที่สูงได้ ดังนั้นหากนโยบายหาเสียงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง โดยปราศจากการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ก้าวไปสู่เทคโนโลยีหรือคุณภาพขั้นสูงแล้ว งานในโรงงานต่างๆก็จะย้ายฐานการผลิตไปสู่โรงงานนรกในต่างประเทศอย่างฟ็อกซ์คอนน์ ปัญหาคนว่างงานก็จะกลับมาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และจะกลับมาหลอกหลอนท่านนักการเมืองทั้งหลายที่ให้คำมั่นสัญญาไว้

    พิมพ์หน้านี้

    ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

    3,280 views  241 Comments

    Posted Under โพสต์ทูเดย์

    No Comments Yet

    You can be the first to comment!

    Sorry, comments for this entry are closed at this time.

      • 10 อันดับ
      • Facebook
      • Twitter

      บทความที่โพสต์ขึ้นเฟสบุ๊ค เมื่อคืนนี้เอาขึ้นเว็บแล้วนะครับสนใจคลิกที่... http://t.co/ylMslUNy

      follow me on
      twitter

    •  
    • Subscribe Email


       

    • Polls Sorry, there are no polls available at the moment.
    • Tag Cloud
      CSR GDP IMF กรีซ การลงทุน ครัวโลก ความรู้นักลงทุน ความเป็นอิสระทางการเิงิน คอร์รัปชัน ค่าแรง ตาน ฉ่วย ทองคำ ธนินทร์ เจียรวนนท์ น้ำท่วม 2554 บัตรเครดิต ประชาธิปไตย พม่า พื้นที่ทับซ้อน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยุโรป วิกฤตซับไพรม์ วิธีบริหารกองทุน วีรพงษ์ ชุติภัทร์ สหรัฐอเมริกา หนองหว้า หนี้สาธารณะ หมู่บ้านเกษตรกรรม หมู่เกาะสแปรตลีย์ หุ้น หุ้นแอปเปิ้ล หุ้นโกดัก อาเซียน อิสรภาพทางการเงิน อเมริกา เจริญโภคภัณฑ์ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เผด็จการ เล่นหุ้น เศรษฐกิจไทย แมคอินทอช แอปเปิ้ล โกดัก โซเวียต ไอเอ็มเอฟ ไอแพด 2
    • สถิติบล็อก
      • 2485130เข้ามาอ่านทั้งหมด:

    This site is using the Handgloves WordPress Theme
    Designed & Developed by George Wiscombe

    Subscribe via RSS