20 มิถุนายน 2554
5,359 views
ดู…ยักษ์ใหญ่เป็นหนี้ แล้วย้อนดู…ตัวเอง
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
ดู…ยักษ์ใหญ่เป็นหนี้ แล้วย้อนดู…ตัวเอง
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้สร้างความตกตะลึงให้แก่ชาวโลกอีกครั้ง เนื่องมาจาก สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศปรับมุมมองประเทศสหรัฐอเมริกาจาก “มีเสถียรภาพ” ไปเป็น “เชิงลบ” ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศสหรัฐอเมริกาไปอยู่ในระดับดังกล่าว เหตุการณ์นี้ทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค ปรับตัวลดลงทันทีเกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุเป็นเพราะว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งเป็นเสมือนที่ปลอดภัยในการพักพิงของเงินคงคลังของประเทศต่างๆถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลง นอกจากนั้นยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมที่สูงขึ้นของรัฐบาลสหรัฐ และยังมีผลกระทบกระเทือนต่อบทบาทของพันธบัตรของประเทศต่างๆที่อาจต้องให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย
สาเหตุหลักที่ทำให้เอสแอนด์พีปรับลดความน่าเชื่อถือดังกล่าวนั้นมาจาก ยอดค่าใช้จ่ายที่เกินตัวของรัฐบาลสหรัฐ โดยพบว่าหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 มีตัวเลขสูงถึง 14.32 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 98 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวม (GDP) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 14.66 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นหนี้ต่างประเทศประมาณ 4.45 ล้านล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ทั้งหมด โดยมีเจ้าหนี้รายใหญ่ๆได้แก่ ธนาคารชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และอังกฤษเป็นต้น แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ ในปี 2531 สหรัฐมีหนี้ต่างประเทศอยู่เพียง 13 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สาธารณะทั้งหมด หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 20 ปี….หนี้ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากลับเจริญเติบโตกว่าเท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นเรื่อยๆ…
ก่อนถึงวันที่ 11 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่ขบวนการอัลกออิดะห์ขับเครื่องบินถล่มตึกเวิร์ลเทรดที่นครนิวยอร์คนั้น รัฐบาลสหรัฐในขณะนั้นนำโดยประธานาธิบดีจอร์จ บุช ได้นำเสนองบประมาณเกินดุลระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 โดยคาดว่าจะมีเงินประมาณเกินดุลหรือเหลือจากการใช้จ่ายของรัฐบาลสูงถึง 1.288 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมาช่วยชำระหนี้สาธารณะที่มีอยู่อย่างมหาศาลให้ลดลงไปบ้าง
แต่หลายครั้ง…ความจริง…มักจะไม่ยอมเป็นไปตามคาด ในปี 2548 ได้มีการทบทวนแผนดังกล่าวและพบว่า แทนที่จะมีเงินเหลือ 1.288 ล้านล้านดอลลาร์ตามที่คาดการณ์ไว้ งบประมาณได้เปลี่ยนจากเกินดุลไปเป็นขาดดุลสูงถึง 0.851 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากหักกลบลบกันแล้วพบว่า มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากแผนสูงถึง 2.138 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการใช้จ่ายดังกล่าวมาจากการลดภาษี “คนรวย” (นักวิจารณ์มักจะเรียกอย่างนี้เพราะว่า เป็นการลดภาษีให้บริษัทและคนมีรายได้มาก และถูกหาว่าเป็นการหาเสียงโดยแลกเปลี่ยนกับเงินภาษีที่ลดลง) สูงถึง 29 เปอร์เซ็นต์ อีก 22 เปอร์เซ็นต์มาจากนโยบายทาง “ทหาร” ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์หลัง 11 กันยายน
หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของงบประมาณปี 2544 ของสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่า ส่วนใหญ่จะมาจากงบนโยบายประกันสุขภาพและงบสวัสดิการสังคมรวมกันสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ค่าใช้จ่ายจำนวนมโหฬารนี้รัฐบาลสหรัฐต้องจ่ายออกไปทุกปี และทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นมาโดยตลอด นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเตรียมงบประมาณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐไว้เพียง 6.6 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีโอกาสเป็นหนี้มากขึ้นทุกปี และยังดูไม่ออกว่าสหรัฐจะมีปัญญาใช้คืนหนี้…แม้แต่ดอลลาร์เดียว…ในระยะเวลาอันใกล้นี้
ปี 2554 | สหรัฐอเมริกา | ไทย |
หนี้สาธารณะ (ล้านล้านดอลลาร์) | 14.32 | 0.142 |
หนี้สาธารณะต่อ GDP | 98% | 41% |
งบค่ารักษาพยาบาล/งบประมาณ | 21% | 10% |
งบสวัสดิการสังคม/งบประมาณ | 19% | 2.30% |
ตัวเลขขาดดุล/งบประมาณ | ขาดดุล 33% | ขาดดุล 20% |
ที่มา: http://www.gpoaccess.gov/usbudget/fy11/pdf/summary.pdf และ
http://www.tdw.polsci.chula.ac.th
ย้อนดู…ตัวเอง ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะนับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2554 จำนวน 4.246 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.28 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศไทยที่ประมาณ 10.287 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับการเป็นหนี้ของสหรัฐซึ่งอยูที่ 98 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แล้ว ถือว่าหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่หากย้อนดูประวัติการเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไทยแล้วกลับพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด นอกจากนั้นแล้วตัวเลขทางด้านค่ารักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคมของไทยรวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ก็ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับของสหรัฐที่ 40 เปอร์เซ็นต์
แต่ประเทศไทยไม่ใช่สหรัฐอเมริกา…ที่สามารถออกพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำและคนทั่วโลกแย่งกันซื้อ ประเทศไทยไม่ใช่สหรัฐอเมริกา…ที่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาเท่าไรก็ได้โดยไม่ต้องใช้ทองคำหนุนหลัง (ปี 1971 ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐ ได้ออกมาประกาศยกเลิกการใช้ทองคำหนุนหลังธนบัตร) ดังนั้นประเทศไทยควรจะสังวรตัวเอง…ไม่ให้สร้างค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น และทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นอยู่ตลอด…โดยยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์…ว่าจะลดหนี้ดังกล่าวได้อย่างไร
แนวโน้มการชำระหนี้สาธารณะของประเทศไทย สามารถสังเกตได้จากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำ พ.ศ.2554 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 พบว่า ไทยมีหนี้สาธารณะในขณะนั้นอยู่เพียง 2.7 ล้านล้านบาท และมีการวางแผนในการใช้คืนประมาณปีละ 3.7 หมื่นล้านบาท หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ นั่นหมายถึง ประเทศไทยต้องใช้ระยะเวลาชำระหนี้คืน 32 ปีแบบไม่มีการกู้ใหม่ ซึ่งเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยอดหนี้เพิ่มตลอดนับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา
ในขณะนี้พรรคการเมืองหลายพรรคที่กำลังหาเสียงกันอยู่มักจะชอบใช้นโยบายประชานิยมอย่างสุดโต่ง แต่นโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบ “ขาดดุล” อย่างมโหฬาร แปลว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะต้องเพิ่มขึ้น ….แปลอีกต่อหนึ่งได้ว่า…. เรากำลังจะยืมเงินอนาคตของลูกหลานของเรามาใช้ก่อน… เรากำลังบอกว่า “ลูกหลานเราลำบาก….ก็ช่างมัน ขอให้เรา…สบายก่อนก็แล้วกัน… ใช่อย่างนั้นหรือเปล่า ??? “
ถ้าไม่ใช่….อย่างนั้น ทุกพรรคการเมืองที่หาเสียงกันอยู่ ควรจะกล้าประกาศออกมาว่า พรรคของเขาจะดำเนินนโยบายประชานิยมที่ตัวเองผลักดันอย่างสุดโต่ง ภายใต้งบประมาณแบบ “เกินดุล” หรือ “สมดุล” เท่านั้น …..และจะไม่ต้องไม่มีคำว่า “งบประมาณขาดดุล”…..
ทำให้นึกถึงคำพูดของพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ที่ว่า “The future starts today, not tomorrow.” แปลตามความได้ว่า “อนาคตเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้.. ไม่ใช่วันพรุ่งนี้” ดังนั้นผู้นำในรัฐบาลใหม่ก็ควรจะบริหารประเทศด้วยเงินรายได้ที่ท่านหามาได้ในวันนี้ อย่าไปนำเงินในวันพรุ่งนี้มาปรนเปรอประชาชนตามนโยบายประชานิยมที่ท่านสัญญาไว้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ลูกหลานเราในอนาคต…ก็อาจจะมีสภาพเหมือนเด็กๆในประเทศกรีซในวันนี้…ก็เป็นได้
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.