7 กรกฎาคม 2554
โพสต์ทูเดย์
กรีซ… ประเทศฉิบหาย…ช่างมัน ขอให้ข้า…ชนะก่อน
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
กรีซ… ประเทศฉิบหาย…ช่างมัน ขอให้ข้า…ชนะก่อน
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
กรีซ… อีกแล้ว…
ประเทศกรีซ กลับมาเป็นข่าวบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือเอสแอนด์พีได้ปรับระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรของรัฐบาลกรีซลงมาอยู่ในระดับ CCC ซึ่งเป็นระดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำที่สุดในโลก ส่วนสาเหตุที่เอสแอนด์พีทำเช่นนั้นเป็นเพราะว่า กรีซมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้สำหรับพันธบัตรที่ตนเองได้ออกไปก่อนหน้านี้
การเมืองกับระบบเศรษฐกิจของกรีซเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ในประเทศกรีซมีพรรคใหญ่ที่ยึดครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่ 2 พรรคคือ พรรค Panhellenic Socialist Movement ซึ่งมักเรียกพรรคนี้ว่า พรรค PASOK และอีกพรรคหนึ่งคือพรรคประชาธิปไตยใหม่ซึ่งมักถูกเรียกว่า พรรค ND ทั้งสองพรรคต่างใช้นโยบายประชานิยมอย่างเต็มพิกัดเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้งตลอดมา…
ปี 2539 – 2546… พรรค PASOK โดยนายคอสตัส สมิทิส ก่อนการเลือกตั้ง…
สัญญาว่า….กรีซจะได้เป็นสมาชิกสหภาพการเงินยุโรป… เงินเฟ้อจะลด… ดอกเบี้ยจะถูก
สัญญาว่า… นักลงทุนจะไหลเข้ามา… ทุกคนจะมีงานทำ…ทุกคนจะได้ค่าแรงเพิ่ม
นายสมิทิสทำทุกอย่างที่สัญญาไว้ได้จริงๆ… รัฐบาลสมิทิสได้แสดงผลงานของตนโดยการลดอัตราเงินเฟ้อจาก 15 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ อัตราค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศเพิ่มขึ้นสูงถึง 4 เปอร์เซ็นต์เข้าตามเกณฑ์ของสหภาพการเงินยุโรป กรีซจึงได้เข้าเป็นสมาชิกในปี 2544 และได้ใช้เงินสกุลยูโรเป็นเงินสกุลหลักของประเทศ ทำให้นักลงทุนสามารถกู้เงินสกุลยูโรจากอัตราดอกเบี้ยจาก 10.75 เปอร์เซ็นต์ลดเหลือเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น …มีการลดภาษีและยกเว้นภาษีทั้งหมดสำหรับการซื้อรถยนต์คันใหม่ และไม่มีการขึ้นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และสาธารณูปโภคอื่นๆ
แต่… ภายหลังพบว่า รัฐบาลนายสมิทิสได้เปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางบัญชี และบิดเบือนความเป็นจริงที่ว่า งบประมาณของกรีซจริงๆแล้วขาดดุลถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่โกหกว่าขาดดุลแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพการเงินยุโรป เพียงเพราะว่า…ต้องการดอกเบี้ยถูก…เงินทุนไหลเข้า…ทำให้ทุกคนมีงานทำ…รัฐบาลและประชาชนกู้เงินกันอย่างมือเติบ
ปี 2547 – 2552 พรรค ND โดยนายคอสตัส คารามันลิส ก่อนการเลือกตั้ง…
สัญญาว่า…กรีซจะได้จัดกีฬาโอลิมปิค อย่างแน่นอน
สัญญาว่า…กรีซจะได้ใช้ “อินเทอร์เน็ตแห่งชาติ” อินเทอร์เน็ตสาธารณะที่ดีที่สุดในยุโรป
สัญญาว่า…ทุกคนจะมีงานทำ…ทุกคนจะได้ค่าแรงเพิ่ม
นายคารามันลิสชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในปีนี้เองที่ประเทศกรีซได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค ซึ่งพบว่าอาคารที่พักนักกีฬา สนามกีฬา ระบบถนนและสนามบินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ รัฐบาลของนายคารามันลิส จึงทุ่มงบประมาณจำนวนมากเข้าไปแก้ไขและสำเร็จทันพิธีเปิดไปอย่างเฉียดฉิว หลังการแข่งขันพบว่า ค่าใช้จ่ายรวมที่ใช้ในการจัดอยู่ที่ 7 พันล้านยูโร ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของงบประมาณที่ตั้งไว้ ทำให้ในปีนั้นกรีซขาดดุลงบประมาณสูงถึง 5.3 เปอร์เซ็นต์ และก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิม 382 ล้านยูโร แต่ประชาชนมีความสุขเพราะ มีงานทำ…และได้ค่าจ้างสูง…ตรงกับที่สัญญาไว้
รัฐบาลของนายคารามันลิสยังใช้งบประมาณต่อไปอย่างไม่ยั้งมือ เช่น โครงการ “อินเทอร์เน็ตแห่งชาติ” ที่ใช้เงินสูงถึง 210 ล้านยูโร และเชื่อว่าจะเป็นระบบอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่ดีที่สุดในยุโรป
ช่วงปลายของรัฐบาลนายคารามันลิสได้มีการออกนโยบายอย่างมากมายเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างมโหฬารของรัฐบาล รัฐบาลประกาศไม่ขึ้นเงินเดือนและไม่มีการรับข้าราชการเพิ่ม ส่งผลให้ประชาชนของกรีซที่เสพติดกับการขึ้นค่าจ้างแรงงานต่อต้าน และท้ายที่สุด…รัฐบาลนายคารามันลิสก็แพ้การเลือกตั้ง
ปี 2552 พรรค PASOK โดยนายจอร์จ ปาปันเดรอู ก่อนการเลือกตั้ง…
สัญญาว่า….จะมีการขึ้นค่าแรงต่อไป…และจะไม่มีการลดค่าแรง
สัญญาว่า… 580 อาชีพ จะเกษียณก่อนวัยที่อายุ 50 ปี
นายปาปันเดรอูชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรี
นโยบาย “เกษียณก่อนวัย”…ทำได้จริง ประชาชนกรีซที่มีอาชีพจำนวนกว่า 580 อาชีพ เกษียณได้เมื่อผู้หญิงอายุได้ 50 ปีและผู้ชายอายุได้ 55 ปี เช่น คนทำงานในเหมืองถ่านหิน เจ้าหน้าที่กำจัดระเบิด อาชีพช่างเสริมสวย..ที่คนทำงานจะต้องเจอกับสารเคมีในการทำผมอย่างมากมาย เป็นต้น จากการสำรวจพบว่า กรีซจะต้องจ่ายเงินบำนาญให้กับคนเหล่านี้จำนวนสูงถึง 7 แสนคนหรือคิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด โดยกรีซมีตัวเลขเฉลี่ยของอายุเกษียณอยู่ที่ 61 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขเฉลี่ยของคนเกษียณอายุที่ต่ำที่สุดในกลุ่มสมาชิกสหภาพการเงินยุโรป
แต่ในที่สุด… กรีซก็ไม่สามารถหนีพ้น…ความเป็นจริง…ไปได้
ต้นปี 2553 รัฐบาลนายปาปันเดรอู เริ่มพบว่ารัฐบาลของตนไม่สามารถหาเงินมาจ่ายสำหรับพันธบัตรของกรีซที่ครบอายุได้ ดังนั้นกรีซจึงขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หลังจากการเจรจา 10 วันเต็มได้ข้อสรุปว่าทั้งสองฝ่ายจะให้เงินกู้แก่กรีซเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 110,000 ล้านยูโร โดยแลกกับการที่กรีซจะต้องลดการขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ และมีมาตรการในการรัดเข็มขัดอย่างเข้มข้น เช่น การไม่ขึ้นเงินเดือนทั้งภาครัฐ เอกชน และการงดจ่ายเงินโบนัสเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 21 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ และการเพิ่มภาษีสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
หลังการประกาศมาตรการ… ประชาชนกรีซแสดงการโต้ตอบทันควัน คนนับหมื่นนับแสนในกรุงเอเธนส์หยุดงานและออกมาประท้วงต่อมาตรการดังกล่าว ทั้งเมืองเอเธนส์เป็นอัมพาตหลายต่อหลายครั้ง
วิบากกรรมของกรีซ…เพิ่งจะเริ่มต้น ปัญหาการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวของกรีซยังคงต้องดำเนินต่อไป และเวลาจะทำให้ปัญหาค่อยๆคลี่คลายให้บรรเทาลงไปเอง
แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ประชาชนชาวกรีซ… เสพติดกับการได้ค่าแรงงานสูงเกินความเป็นจริง …เสพติดกับการได้สวัสดิการที่ดีๆจากรัฐ …เสพติดกับการกู้ยืมเงินง่ายๆแม้ว่าจะไม่มีปัญญาจะใช้คืน …และเสพติดกับความมักง่ายที่เกิดจากนโยบายประชานิยมที่แต่ละพรรคแข่งกันหยิบยื่นให้มากว่า 30 ปี จากนี้ไป…พวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร …จะหากินอย่างไร …และจะอยู่กับอนาคตของตัวเองต่อไปอย่างไร
ทำให้นึกถึงนักเขียนอารมณ์ขันชาวอเมริกันในศตวรรษที่ 19 ที่ใช้นามปากกาว่า Josh Billing เขาได้กล่าวเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไว้ว่า “Economy is a savings-bank, into which men drop pennies, and get dollars in return.” แปลตามความได้ว่า “เศรษฐกิจก็คล้ายๆฝากเงินในธนาคารนั่นแหละ… ทุกเพนนีที่คุณใส่ลงไป …ในที่สุดคุณก็จะได้หลายๆดอลลาร์กลับคืนมา”หากผู้นำกรีซแต่ละคนมีแนวความคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบนี้…กรีซก็คงไม่มีปัญหาอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ จึงได้แต่หวังว่า…ผู้นำประเทศไทยคนต่อไป คงจะรู้ว่า..ควรจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในอนาคตอย่างไร
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.