26 กรกฎาคม 2554
3,793 views
ครัวของโลก… ยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยต้องทำ…วันนี้ !!
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
ครัวของโลก… ยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยต้องทำ…วันนี้ !!
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
ตัวเลขของดัชนีราคาอาหารของวารสาร Food Price Watch ของธนาคารโลกฉบับเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเกือบ 350 จุด ซึ่งเกือบสูงเท่าจุดสูงสุดในปี 2551 และมีแนวโน้มว่าราคาอาหารโลกจากนี้ไปจะอยู่ในระดับราคาที่สูง…และสูงขึ้น แม้ว่าจะมีบางช่วงที่ราคาอาหารลดลงมาบ้างก็ตาม แต่ภาพรวมของแนวโน้มก็ยังคงจะสูงต่อไป ซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่มีความสามารถในการผลิตอาหารจำนวนมากป้อนให้แก่ตลาดโลก ทั้งนี้มีสาเหตุหลัก 5 ประการที่เป็นการสนับสนุนแนวโน้มราคาอาหารที่จะสูงขึ้นในอนาคตดังนี้
1. ปัญหาโลกร้อน (Global Warming)
องค์การของประเทศสหราชอาณาจักรที่มีชื่อว่า Commission on Sustainable Agriculture and Climate ซึ่งมีศาสตราจารย์จอห์น เบ็ดดิงตัน เป็นประธานได้กล่าวถึงปัญหาโลกร้อนว่า ความผันผวนของสภาวะอากาศในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งครั้งใหญ่ในรัสเซีย จีน และบราซิล รวมถึงอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียและปากีสถาน ได้ทำให้ระดับราคาของอาหารสูงที่สุดในรอบ 40 ปีนับตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2516 แต่สิ่งที่น่าเศร้ามากกว่านั้นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤตใหญ่ๆที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ อันเนื่องมาจากการปล่อยก้าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะแห้งแล้ง อุทกภัย และการขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่
Commonwealth Scientific and Research Organisation (CSIRO) องค์การทางด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลออสเตรเลียทำนายว่า หากทุกประเทศในโลกยังใช้ทรัพยากรของตนเช่นในปัจจุบันแล้ว ภายในปี 2573 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส และถ้ายังใช้ต่อไป…คาดว่าภายในปี 2613 อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 7 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยในทุกวันนี้ และจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากระดับน้ำทะเลในปัจจุบันไปอีก 30 เซนติเมตรและ 70 เซนติเมตร ในปี 2573 และ 2613 ตามลำดับ โดยจะทำให้พื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย เวียดนาม และจีนจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกในโลกลดลงเป็นจำนวนมาก
2. ทางเลือกระหว่างอาหารหรือพลังงาน (Food or Fuel)
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น 10.3 เปอร์เซ็นต์ และพุ่งสูงขึ้นถึง 36 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นตัวผลักดันให้ราคาอาหารมีราคาสูงตาม เนื่องจากมีการนำข้าวโพด อ้อย และน้ำมันจากพืชอีกหลายชนิดไปดัดแปลงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่สามารถผลิตออกมาในราคาที่ถูกกว่า โดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริการายงานว่า ในปี 2551-2552 มีการใช้ข้าวโพดไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 31 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวโพดทั้งประเทศ พอมาถึงปี 2553-2554 คาดว่าการใช้ข้าวโพดมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจะสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นยิ่งราคาน้ำมันยิ่งสูง… ราคาสินค้าเกษตรก็จะยิ่งสูงตาม… และราคาอาหารก็จะต้องสูงตามไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
3. สังคมการบริโภค (Consumption-oriented Society)
ในปี 2521 จีนได้ปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ และได้เปลี่ยนตนเองไปเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์…แต่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยม ในปัจจุบันจีนได้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จำนวนประชากรยากจนที่สูงถึง 53 เปอร์เซ็นต์ในปี 2524 ลดลงเหลือเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2548
การประชุม Committee on Commodity Problems ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 66 ณ ประเทศอิตาลี มีการคาดการณ์การนำเข้า ส่งออกสินค้าเกษตรของจีนและอินเดีย จนถึงปี 2563 ภายใต้สมมุติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 ต่อปี พบว่า ระหว่างปี 2544-2563 จีนจะมีการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 50 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรสุทธิที่สำคัญ
ในกรณีอินเดียพบว่า จะมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และความต้องการของเนื้อไก่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ในขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.7 จึงต้องพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากหากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลมาจากการที่ประชาชนมีเงินมากขึ้น และต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น
4. สังคมเมืองเติบโตขึ้น (Expansion of Urbanization)
ในการประชุม Central Economic Work Conference พบว่า ในปี 2540 อัตราส่วนระหว่างรายได้คนเมืองต่อรายได้คนชนบทในสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ที่ 2.2 ต่อ 1 พอมาในปี 2543 รายได้ของคนเมืองก็เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้อัตราส่วนดังกล่าวไปอยู่ที่ 2.79 ต่อ 1 ในปี 2551 พบว่าอัตราส่วนรายได้ของคนเมืองยิ่งสูงขึ้นไปอีกโดยอัตราส่วนอยู่ที่ 3.3 ต่อ 1 ส่วนใหญ่คนเมืองจะมีกิจกรรมด้านสังคมจำนวนมาก และนำไปสู่อัตราการบริโภคอาหารที่มากกว่าคนชนบทเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่าอัตราการบริโภคของคนเมืองเทียบกับคนทั้งประเทศในปี 2522 อยู่ที่ 32.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต่อมาในปี 2551 การบริโภคของคนเมืองต่อคนทั้งประเทศอยู่ที่ 68 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ของจีนได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมืองแล้ว
5. การใช้ทฤษฎีเคนส์แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (Keynesian Approach)
เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ คือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่มีพื้นฐานจากความคิดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ทฤษฎีของเคนส์เชื่อว่า การที่เศรษฐกิจเกิดตกต่ำอย่างรุนแรง ปัญหาการว่างงานจะเลวร้ายตามมา ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อหยุดยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจ และเพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อไปให้ได้
ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่พยายามใช้งบประมาณขาดดุลเพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปในระบบตามทฤษฎีเคนส์ ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีการดำเนินนโยบายขาดดุลมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 มีตัวเลขสูงถึง 14.32 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 98 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวม (GDP) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 14.66 ล้านล้านดอลลาร์ (จากบทความ “ดู…ยักษ์ใหญ่เป็นหนี้ แล้วย้อนดู…ตัวเอง” ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ) งบประมาณของประเทศไทยในปี 2554 ที่สูงถึง 2.07 ล้านล้านบาท ก็เป็นงบประมาณขาดดุล ซึ่งขาดดุลสูงถึง 4.2 แสนล้านบาทหรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ในขณะนี้หลายๆประเทศล้วนแต่ดำเนินนโยบายขาดดุลเป็นจำนวนมาก โดยมีจุดมุ่งหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวและแก้ไขปัญหาคนว่างงาน ซึ่งจะนำไปสู่การบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยอัติโนมัติ
ด้วยข้อสนับสนุนทั้ง 5 ข้อ จึงทำให้ประเทศไทยต้องเร่งสร้างยุทธศาสตร์ในการทำให้ประเทศไทยกลายไปเป็น “ครัวของโลก” ทำให้นึกถึงคำกล่าวของ บิล เกตส์ อดีตประธานของบริษัทไมโครซอฟต์ ที่ว่า “As we look ahead into the next century, leaders will be those who empower others.” แปลตามความได้ว่า “ในขณะที่เรากำลังมองไปในศตวรรษหน้านั้น ผู้นำเท่านั้น…ที่จะเป็นคนให้พละกำลังแก่ผู้อื่น…ในการก้าวไปข้างหน้า” ดังนั้นเมื่อโอกาสของประเทศไทยที่จะเป็น “ครัวของโลก” มาถึงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องสานฝันและทำทุกอย่างเพื่อที่จะนำพาบริษัทของคนไทย…พร้อมกับผลผลิตของคนไทย…ก้าวไปเป็นผู้นำในเวทีการค้าโลกด้วยมันสมอง มิใช่ด้วย…นโยบายประชานิยม…ที่เน้นแต่การแจกแหลก…โดยยังไม่เห็นแผนยุทธศาสตร์ที่จะรองรับอนาคตของประเทศไทยเลย
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.