doctorwe.com

Dr.Weraphong Chutipat   A Columnist

Fanpage 828_315
  • ล่าสุด
  • บทความ
  • แจกฟรี
  • การอบรม
  • ชม+ฟัง
  • ผู้เขียน


  • A A A
    • พ.ศ. :
    • 2563
    • 2562
    • 2561
    • 2560
    • 2559
    • 2558
    • 2557
    • 2556
    • 2555
    • 2554
      เดือน :
    • ม.ค.
    • ก.พ.
    • มี.ค.
    • เม.ย.
    • พ.ค.
    • มิ.ย.
    • ก.ค.
    • ส.ค.
    • ก.ย.
    • ต.ค.
    • พ.ย.
    • ธ.ค.

    30 กันยายน 2554

    8,298 views

    หมู่เกาะสแปรตลีย์…กลยุทธ์ชิงความได้เปรียบบนพื้นที่ทับซ้อน

    พิมพ์หน้านี้

    คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย

    หมู่เกาะสแปรตลีย์…กลยุทธ์ชิงความได้เปรียบบนพื้นที่ทับซ้อน

    ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

    หมู่เกาะสแปรตลีย์..เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่บนบกรวมกันทั้งหมดประมาณไม่เกิน 4 ตารางกิโลเมตร แต่กินพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 425,000 ตารางกิโลเมตร (เทียบกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา 26,000 ตารางกิโลเมตร) โดยมีเกาะรวมกันทั้งสิ้นกว่า 30,000 เกาะ จึงทำให้หมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นสถานที่ยากจัดการในเชิงการปกครองและเศรษฐกิจ นอกจากนั้นความที่มีพื้นที่ขนาดเล็กและอยู่ห่างไกลประเทศต่างๆมาก จึงทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะดึงดูดผู้คนให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยกันเลย

    อย่างไรก็ตาม หมู่เกาะสแปรตลีย์ก็โด่งดังเป็นพลุแตก และเป็นที่หมายปองของหลายๆประเทศที่พยายามอ้างสิทธิเหนือพื้นที่แห่งนี้ ทั้งๆที่อยู่ห่างไกลออกไปมากก็ตาม โดยมีสาเหตุหลักมาจากหมู่เกาะแห่งนี้มีแหล่งพลังงานจำนวนมาก โดยคาดว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมกันประมาณ 17.7 พันล้านตัน (มากกว่าแหล่งพลังงานของประเทศคูเวตทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 13 พันล้านตัน และมากกว่าพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาซึ่งคาดว่ามีน้ำมัน 2 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต) นอกจากนั้นหมู่เกาะสแปรตลีย์ยังเป็นแหล่งจับปลาขนาดใหญ่ของทะเลจีนใต้อีกด้วย จากสถิติพบว่าการจับปลาในทะเลจีนใต้คิดเป็นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการจับปลาทั่วโลก ดังนั้นเมื่อคิดมูลค่ารวมแหล่งพลังงานและแหล่งจับปลาเข้าด้วยกันแล้วจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีหลายประเทศที่พยายามแก่งแย่งกันเพื่อเป็นเจ้าของหมู่เกาะแห่งนี้ โดยต่างมีกลยุทธ์ในการแย่งชิงกันดังนี้

    1. กลยุทธ์การใช้แผนที่และเอกสารครอบครองพื้นที่ทับซ้อน

    ระหว่างปี 1932 ถึง 1935 รัฐบาลจีนได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าว โดยคณะกรรมการกลั่นกรองและจัดทำแผนที่ของจีนได้ออกแผนที่ของประเทศจีนอย่างเป็นทางการและได้ครอบคลุมหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในปี 1958 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ออกประกาศเรื่องพื้นที่แผ่นดินของจีน โดยกินพื้นที่ออกไปในทะเลเป็นระยะทาง 12 ไมล์ทะเลและครอบคลุมพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด เกือบจะในเวลาเดียวกัน..รัฐบาลเวียดนามได้ออกจดหมายถึงนายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นว่า รัฐบาลเวียดนามเคารพในสิทธิของประเทศจีนที่เกี่ยวกับดินแดนภายใต้ระยะทาง 12 ไมล์ทะเล แต่..เวียดนามจะยังคงมีสิทธิเป็นเจ้าของหมู่เกาะสแปรตลีย์อยู่ดี

    2. กลยุทธ์การเข้ายึดครองพื้นที่

    รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้อ้างว่า คนของตนที่ชื่อ Tomas Cloma ได้ประกาศเป็นเจ้าของหมู่เกาะแห่งนี้แล้วเมื่อปี 1956 และได้ขายให้สิทธิให้แก่รัฐบาลฟิลิปปินส์ไปแล้ว ประจวบกับในปี 1982 สหประชาชาติได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ทางทะเล โดยให้กินระยะทางออกไปถึง 200 ไมล์ทะเล ฟิลิปปินส์จึงใช้เอกสารทั้งหมดอ้างสิทธิของตนเหนือหมู่เกาะดังกล่าว ในระหว่างที่การอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป ในปี 1968 รัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งกองกำลังเข้าไปยึดเกาะ 3 เกาะในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ตามข้ออ้างสิทธิความเป็นเจ้าของของ Tomas Cloma ต่อมาในปี 1973 รัฐบาลเวียดนามก็ทำเช่นเดียวกัน โดยยึดเกาะจำนวน 5 เกาะ ในเดือนมีนาคม 1976 รัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งบริษัทสำรวจน้ำมันเข้าพื้นที่และทำการขุดเจาะตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันน้ำมันที่ได้จากหมู่เกาะแห่งนี้ถูกนำไปใช้ในฟิลิปปินส์คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันทั้งประเทศ มาเลเซียเองก็เข้ายึดครองเกาะ 3 เกาะในหมู่เกาะสแปรตลีย์ในบริเวณแนวปะการัง “Swallow” และได้ปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทรีสอร์ตเพื่อการดำน้ำ

    3. กลยุทธ์การให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติ

    ในปี 1992 รัฐบาลจีนทำข้อตกลงให้สัมปทานแก่บริษัท China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) และบริษัท Crestone Energy – USA เพื่อทำการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลเวียดนามก็ทำข้อตกลงกับบริษัท Petro Vietnam, Petro Star Energy (USA) และ ConocoPhillips ทำการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์เช่นเดียวกัน จึงนำไปสู่การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย และเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยกเลิกสัญญาการให้สัมปทาน

    4. กลยุทธ์ด้านการทูต

    รัฐบาลฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย รู้ว่าตนเองไม่มีศักยภาพในการต่อกรกับมหาอำนาจอย่างรัฐบาลจีน จึงยกระดับการเจรจาปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์เข้าสู่ที่ประชุมอาเซียนซึ่งมีประเทศสมาชิกอยู่ถึง 10 ชาติ ในปี 1995 อาเซียนและจีนบรรลุข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยการลงนามในสัญญาการแจ้งการเคลื่อนย้ายกำลังพล โดยแต่ละประเทศที่มีกองกำลังอยู่ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์จะต้องแจ้งให้แต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง ทราบถึงการเคลื่อนย้ายกองกำลังของตนในบริเวณดังกล่าว

    5. กลยุทธ์การแสวงหามหาอำนาจมาเป็นพันธมิตร

    ในเดือนกรกฎาคม 2010 นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวปราศรัยระหว่างการเยือนเวียดนามว่า “ผลประโยชน์ของประเทศชาติแต่ละประเทศ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคทะเลจีนใต้” คำกล่าวดังกล่าวถือได้ว่าเป็นชัยชนะของเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามจะพยายามแสวงหาเวทีระหว่างประเทศเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาผลประโยชน์บนหมู่เกาะสแปรตลีย์ในระดับพหุภาคี ในขณะที่จีนเองพยายามที่จะให้เปิดการเจรจาในระดับทวิภาคี ซึ่งถ้าเป็นการเจรจาสองฝ่าย ประเทศเล็กอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย ก็จะเสียเปรียบจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่

    6. กลยุทธ์การอ้างสิทธิไว้ก่อน

    บรูไนอาจถือเป็นประเทศเดียวที่อ้างสิทธิในการครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยอาณาเขตทางทะเลห่างจากฝั่งออกไป 200 ไมล์ทะเล แต่ไม่มีปฏิบัติการทางทหารอย่างใดทั้งสิ้น

    กลยุทธ์ต่างๆทีใช้ในกรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์นั้น อาจนับได้ว่าครอบคลุมกลยุทธ์เกือบทั้งหมดที่ควรจะใช้ในกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รัฐบาลไทยจึงควรใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ในปัจจุบันแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขณะนี้มีเหลืออยู่ประมาณ 30 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งคาดว่าจะใช้ต่อไปได้อีกประมาณ 32 ปี ดังนั้นหากไทยสามารถที่จะนำแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนซึ่งคาดว่าจะมีสูงถึง 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ก็คาดกันว่าไทยจะมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติให้ใช้เพิ่มขึ้นไปอีกมากกว่า 10 ปี จึงนับได้ว่าแหล่งพลังงานแห่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับอนาคตพลังงานของไทย

    ทำให้นึกถึงคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่ชื่อ Albert Einstein ที่กล่าวไว้ว่า “The release of atomic energy has not created a new problem. It has merely made more urgent the necessity of solving an existing one.” แปลตามความได้ว่า “การเกิดขึ้นของพลังงานปรมาณูไม่ได้สร้างปัญหาใหม่ แต่มันก่อให้เกิดความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่มีอยู่” ก่อนหน้าที่จะรู้ว่าพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ ทุกประเทศก็ดูเฉยชาที่อยากจะได้มัน แต่พอรู้ว่า..มันเป็นแหล่งพลังงานเท่านั้นแหละ ทุกประเทศก็กระสัน..ที่อยากจะได้มันมาครอบครอง ด้วยเหตุผลที่ว่าจะต้องสำรองพลังงานจำนวนมากไว้ใช้ในอนาคต ปัญหาจึงอาจไม่ได้มาจาก..ความจำเป็นที่จะต้องมีพลังงานจำนวนมากสำรองไว้ใช้ แต่อาจจะมาจาก..กมลสันดานของมนุษย์ก็เป็นได้

    พิมพ์หน้านี้

    ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

    8,298 views  1,628 Comments

    Posted Under โพสต์ทูเดย์

    No Comments Yet

    You can be the first to comment!

    Sorry, comments for this entry are closed at this time.

      • 10 อันดับ
      • Facebook
      • Twitter

      บทความที่โพสต์ขึ้นเฟสบุ๊ค เมื่อคืนนี้เอาขึ้นเว็บแล้วนะครับสนใจคลิกที่... http://t.co/ylMslUNy

      follow me on
      twitter

    •  
    • Subscribe Email


       

    • Polls Sorry, there are no polls available at the moment.
    • Tag Cloud
      CSR GDP IMF กรีซ การลงทุน ครัวโลก ความรู้นักลงทุน ความเป็นอิสระทางการเิงิน คอร์รัปชัน ค่าแรง ตาน ฉ่วย ทองคำ ธนินทร์ เจียรวนนท์ น้ำท่วม 2554 บัตรเครดิต ประชาธิปไตย พม่า พื้นที่ทับซ้อน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยุโรป วิกฤตซับไพรม์ วิธีบริหารกองทุน วีรพงษ์ ชุติภัทร์ สหรัฐอเมริกา หนองหว้า หนี้สาธารณะ หมู่บ้านเกษตรกรรม หมู่เกาะสแปรตลีย์ หุ้น หุ้นแอปเปิ้ล หุ้นโกดัก อาเซียน อิสรภาพทางการเงิน อเมริกา เจริญโภคภัณฑ์ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เผด็จการ เล่นหุ้น เศรษฐกิจไทย แมคอินทอช แอปเปิ้ล โกดัก โซเวียต ไอเอ็มเอฟ ไอแพด 2
    • สถิติบล็อก
      • 2485128เข้ามาอ่านทั้งหมด:

    This site is using the Handgloves WordPress Theme
    Designed & Developed by George Wiscombe

    Subscribe via RSS