15 ตุลาคม 2554
3,733 views
เมื่อชาวออสเตรเลีย.. ต้องสู้กับน้ำท่วม
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
เมื่อชาวออสเตรเลีย.. ต้องสู้กับน้ำท่วม
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ขณะที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ ประเทศไทยกำลังประสพวิกฤตการณ์อุทกภัยอย่างแสนสาหัส หรืออาจกล่าวได้ว่าอุทกภัยในครั้งนี้มีความรุนแรงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้.. หลายคนสับสน.. หลายคนวิตกกังวล.. และหลายคนทุกข์ทรมาน โดยไม่รู้ว่าในวันพรุ่งนี้.. เดือนหน้า.. หรือปีหน้า.. ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร ดังนั้นเพื่อเป็นแนวความคิดในการจัดการปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ จึงอยากจะเล่าถึงการรับมือต่อวิกฤตการณ์น้ำท่วมของรัฐบาลออสเตรเลีย..และชาวออสเตรเลีย ในเหตุการณ์ “น้ำท่วมใหญ่ในรัฐควีนส์แลนด์” เมื่อต้นปีนี้ที่ผ่านมา
ช่วงเดือนธันวาคม 2553 จนถึงเดือนมกราคม 2554 ขณะนั้นได้เกิดปรากฏการณ์ “ลานินญา” (ปรากฏการณ์ที่มีกระแสลมสินค้าตะวันออกมีกำลังแรง ทำให้ระดับน้ำทะเลบริเวณทางซีกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าสภาวะปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย) ไปทั่วโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดพายุและดีเปรสชั่นในรัฐควีนส์แลนด์ในประเทศออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ โดยคาดกันว่าพื้นที่สามในสี่ของรัฐควีนส์แลนด์ต้องประสพกับภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้เมืองต่างๆของรัฐนี้ไม่ว่าจะเป็น Brisbane, Rockhampton, Emerald, Bundaberg, Dalby, Toowoomba และ Ipswich จมอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้น ถนนมากกว่า 300 สายถูกปิดรวมถึงถนนไฮเวย์อีก 9 สาย น้ำท่วมในครั้งนี้ไหลเข้าท่วมหลายเมืองอย่างรุนแรง ในเมือง Grantham สื่อท้องถิ่นรายงานว่า คลื่นน้ำยักษ์สูงถึง 7-8 เมตรได้ซัดเข้าท่วมเมืองอย่างรวดเร็ว โดยพวกเขาเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “สึนามิบนบก” ในเมือง Brisbane เมืองหลวงของรัฐควีนส์แลนด์พบว่า ในช่วงระดับน้ำสูงที่สุดนั้นสูงถึง 4.46 เมตร
ทันทีที่เหตุการณ์ภัยธรรมชาติดังกล่าวแพร่กระจายออกไป ด้วยความรุนแรงของผลกระทบทำให้คนออสเตรเลียไม่สามารถนิ่งดูดายมองเพื่อนร่วมชาติประสพชะตากรรมอย่างเดียวดายได้ โดยเฉพาะเมืองบริสเบนเพียงแห่งเดียวพบว่า มีอาสาสมัครชาวออสเตรเลียลงทะเบียนเข้าช่วยเหลือกว่า 50,000 คน และยังมีผู้ช่วยเหลือที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก พวกเขาต่างออกมาช่วยกันค้นหาผู้ประสพอุทกภัยที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และช่วยทำความสะอาดบ้านเรือนของเพื่อนๆชาวออสเตรเลีย นางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “Aussie Spirit” หรือ “น้ำใจของชาวออสซี่”
นอกจากนั้นรัฐบาลของนางกิลลาร์ด ยังได้วางแผนงบประมาณของประเทศใหม่ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการช่วยเหลือประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยนางกิลลาร์ดได้ตัดสินใจที่จะใช้งบประมาณสูงถึง 5.6 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือประชาชนและบูรณะพื้นที่ประสพภัย โดยงบประมาณทั้งหมดมาจากการตัดงบประมาณอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น Green Car Innovation จำนวน 2.8 พันล้านเหรียญ อีก 1 พันล้านเหรียญมาจากการตัดงบประมาณการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็น ถนน อาคาร อื่นๆ และสุดท้ายจำนวน 1.8 พันล้านเหรียญมาจากการยกเว้นภาษีจำนวนมากสำหรับประชาชนในพื้นที่ประสพภัยเป็นเวลา 1 ปี
รัฐบาลนางกิลลาร์ดยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐควีนส์แลนด์ จัดตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า National Disaster Relief and Recovery Arrangements (NDRRA) หน่วยงานดังกล่าวได้ใช้งบประมาณทันทีจำนวน 0.6 พันล้านเหรียญเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอีก 0.12 พันล้านเหรียญเพื่อจ่ายให้ประชาชนไปใช้สอยในระหว่างที่ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ส่วนเงินที่เหลือส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคอื่นๆ
รัฐบาลของนางกิลลาร์ดทราบดีว่า หัวใจหลักในการบูรณะพื้นที่ประสพภัยคือ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดให้กลับมาใช้งานได้ดั่งเดิมโดยเร็วที่สุด และด้วยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของออสเตรเลียเอง ปัญหาการก่อสร้างดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนงบประมาณ แต่กลับไปอยู่ที่การขาดแคลนฝีมือแรงงานในการก่อสร้างต่างหาก ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเลื่อนการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคต่างๆของรัฐบาลออกไปก่อน เพื่อให้คนงานมีฝีมือเหล่านี้มุ่งตรงไปพื้นที่ประสพภัยเพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนคนงานมีฝีมือในพื้นที่ประสพภัย นอกจากนั้นรัฐบาลยังสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศออกวีซ่าพิเศษที่เรียกว่า “Employer-Sponsored Temporary Visa” หรือ “วีซ่าชั่วคราวที่มีนายจ้างเป็นผู้รับรอง” โดยออกให้คนงานมีฝีมือต่างชาติที่พิสูจน์ได้ว่าจะเข้ามาทำงานในพื้นที่ประสพภัย ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียจะต้องออกวีซ่าให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน
อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลของนางกิลลาร์ด ได้ทุ่มเทกำลังความสามารถทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือรัฐควีนส์แลนด์ให้พ้นจากภาวะวิกฤตหลังจากประสพอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งอาจเหมือนกับรัฐบาลในประเทศอื่นๆที่จะทำในยามประสพภัยคล้ายๆกัน แต่..สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ นางจูเลีย กิลลาร์ด และรัฐบาลของเธอ.. แก้ไขปัญหาทุกอย่างนั้น.. ทำไปอย่างมีสติ.. มีการแยกแยะปัญหาเร่งด่วนและไม่เร่งด่วน.. และมีการจัดลำดับความสำคัญของวิธีการแก้ไขปัญหา
วิกฤตการณ์อุทกภัยสำหรับประเทศไทยในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำให้ประเทศและประชาชนจำนวนมาก และถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติของเรา…ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาสได้ช่วยพวกเขา
ทำให้นึกถึงคำพูดของ Ray Nagin ซึ่งเขาเป็นนายกเทศมนตรีของนครนิวออร์ลีนส์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อคราวที่เมืองของเขาต้องประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนแคทรีน่าเมื่อปี 2548 เขาพูดกับประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศไว้ว่า “Get off your ass and get down here to fix the goddamn biggest disaster in the nation’s history.” แปลตามความไดว่า “โปรดย้ายสะโพกของท่าน.. เพื่อออกมาช่วยกันแก้ไขหายนะที่ใหญ่โคตรๆ..ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติเรา”
ณ เวลานี้..ประเทศไทยกำลังรอ..ใครก็ได้.. ที่จะมีศักยภาพเพียงพอ เพื่อช่วยกันร้องตะโกนให้.. คนทั้งแผ่นดิน.. ออกมา.. ร่วมช่วยกันคนละไม้คนละมือ.. เพื่อช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติ.. ที่กำลังทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสอยู่ในขณะนี้
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.