17 ตุลาคม 2554
2,328 views
ครั้งนี้… ไม่เหมือนเดิม (เพราะ..มันแย่กว่าเดิมเสียอีก)
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
ครั้งนี้… ไม่เหมือนเดิม (เพราะ..มันแย่กว่าเดิมเสียอีก)
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
ผมได้ดูรายการทีวีรายการหนึ่งทางช่องมันนี่แชนเนล (จำชื่อรายการไม่ได้แล้ว) ในรายการดังกล่าวมีวิทยากรชื่อ คุณวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน ท่านพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “This Time is Difference.” แปลว่า “ครั้งนี้..ไม่ เหมือนเดิม” (ไม่มีปัญหาเหมือนอดีต) ของ Carmen M. Reinhart และ Kenneth S. Rogoff ผมฟังแล้วสนใจมาก จึงได้ไปค้นหาและอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว ผมเองคิดว่าแนวคิดจากหนังสือเล่มดังกล่าวดีมาก..ซึ่งต้องขอขอบพระคุณคุณวรวรรณ มา ณ โอกาสนี้ด้วย นอกจากนั้นก็อยากจะถ่ายทอดให้กับคุณผู้อ่านได้ทราบด้วยดังนี้ครับ
หนังสือเล่มนี้เริ่มจากการเล่าถึงการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก ที่คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า โลกนี้น่าจะดีขึ้น และจะไม่มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา เพราะ
- นักธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ส่วนใหญ่ต่างพากันทำนายว่า “สงคราม” จะไม่เกิดขึ้นอีก และในอนาคต..เศรษฐกิจของโลกจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
- ระหว่างปี 2003-2007 นายธนาคารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างพากันคาดการณ์ว่า การที่ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกามีราคาเพิ่มขึ้นโดยตลอด และตัวเลขหนี้อสังหาริมทรัพย์ก็สูงขึ้นเช่นกัน เป็นสิ่งที่ปกติ ทั้งๆที่ทั้งสองตัวนั้นได้เป็นตัวบอกเหตุล่วงหน้า..ถึงภาวะฟองสบู่ที่ได้ก่อให้เกิดวิกฤตซับไพรม์ตามมาในปี 2008
- ภาระหนี้สาธารณะ (Sovereign Debts) และการผิดนัดชำระหนี้สาธารณะ (Sovereign Defaults) เป็นเรื่องปกติของระบบทุนนิยม
ในอดีตที่ผ่านมาโลกใบนี้ได้ผ่าน “วิกฤตเศรษฐกิจ” มานับครั้งไม่ถ้วน โดยเหตุการณ์ใหญ่ๆที่พอจะอยู่ในความทรงจำของของพวกเราบ้างคือ เหตุการณ์มหาวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 1930-1935 ในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศโลกที่สามในปี 1980-1985 เหตุการณ์เศรษฐกิจแทบจะล่มสลายในเอเชีย (บางคนเรียกว่า วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เพราะเกิดในประเทศไทยเป็นแห่งแรก) ในปี 1997 และมาถึงหลังสุดคือ วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ในปี 2008 ก่อนเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ก็มักจะมีคนออกมาเตือนว่า ภาวะฟองสบู่กำลังจะเกิด..และเศรษฐกิจกำลังจะแย่ แต่ก็จะมีหลายคนที่ออกมาแย้งว่า “ครั้งนี้..ไม่เหมือนเดิม” มันจะไม่แย่เหมือนที่ผ่านมา และในที่สุดก็เกิด..วิกฤตเศรษฐกิจขึ้นจนได้
ในสหรัฐอเมริกา ก่อนวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 พบว่า ภาระหนี้สินในครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยในปี 1993 ภาระหนี้สินครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) อยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2003 อยู่ที่ 120 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2006 ขยับขึ้นมาจนถึง 130 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวแสดงว่า ภาระหนี้สินของครอบครัวในอเมริกาในระยะเวลาเพียง 10 ปีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เช่นเดิมทุกคนต่างพูดว่า “ครั้งนี้..ไม่เหมือนเดิม” เรา (ชาวอเมริกัน) จะไม่พบกับวิกฤตเศรษฐกิจอีก เพราะ
- สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีเครื่องมือทางการเงินที่ดีที่สุดในโลกอีกด้วย
- ประเทศกำลังพัฒนาต่างส่งเงินเข้ามาเพื่อซื้อพันธบัตรอเมริกา เพราะว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยที่สุดในโลก (Safe Haven)
- บริบทของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนจะยอมมีภาระหนี้มากขึ้น..เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น นายอลัน กรีนสแปน ก็มั่นใจว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะยังคงดีอยู่ แม้ว่าตัวเลขการขาดดุลงบประมาณและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดก็ตาม ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ในเวลานั้นมีเพียง นายพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่กล้าออกมาเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยตลอดของสหรัฐอเมริกานั้น จะเป็นภาวะที่ไม่ยั่งยืนและความเสียหายต่างๆก็จะปรากฎขึ้นในเร็ววัน จนในที่สุดปัญหาวิกฤตซับไพรม์ก็ปะทุขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 จนนำไปสู่ภาวะตกต่ำครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน และยังนำไปสู่การล่มสลายของบริษัทวาณิชธนกิจชื่อก้องโลกอย่าง เลห์แมน บราเดอร์ส
ในหนังสือเล่มดังกล่าว ยังได้แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจไว้ด้วยกันสองประการ คือ ประการที่หนึ่ง ก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาบ้านอย่างรวดเร็ว จะมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดวิกฤตในธนาคารและสถาบันการเงิน แม้ว่าสัญญาณเหล่านี้จะแสดงได้อย่างไม่ชัดเจนนัก แต่เราก็ควรที่จะสังวรณ์ถึงสัญญาณต่างๆที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตดังกล่าวได้ ประการที่สอง เมื่อแนวความคิด “ครั้งนี้.. ไม่เหมือนเดิม” (จะไม่มีปัญหาเหมือนอดีต) เข้าครอบงำความคิดของคนส่วนใหญ่แล้ว กระแสการไหลเข้าออกของเงินตราต่างชาติก็มักจะแสวงหาช่องโหว่ที่จะทำให้เงินเหล่านี้ไหลเข้าออกได้เป็นจำนวนมากๆ และจะนำไปสู่การก่อหนี้จำนวนมากๆตามมา หลังจากนั้นปัญหาทางการเงินก็จะเริ่มก่อตัว..และนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด
ดังนั้นการบังคับใช้กฎระเบียบในการเคลื่อนย้ายเงินต่างชาติจึงมีความสำคัญมาก และจะต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในบางเวลา..ทุกๆคนจะคิดว่า “ครั้งนี้…ไม่เหมือนเดิม” (ไม่มีปัญหาเหมือนอดีต) ก็ตาม ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เกี่ยวข้องทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาสัญญาณเตือนทุกอย่างโดยละเอียด จนพร้อมที่จะออกนโยบายและระเบียบต่างๆที่จะมารองรับการป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจนั้นๆให้ได้
ทำให้นึกถึงคำพูดของนักแสดงญี่ปุ่นที่ชื่อ Pat Morita ที่แสดงเป็นลุงมิยากิในหนังเรื่อง “The Next Karate Kid” ที่พูดไว้ว่า “Ambition without knowledge is like a boat on dry land.” แปลตามความได้ว่า “ความทะเยอทะยานที่ปราศจากความรู้… ก็เหมือนเรือที่อยู่บนบก” ผู้นำประเทศต่างๆจึงควรตระหนักไว้ว่า ความทะเยอทะยานที่จะนำพาประเทศให้ประสพความสำเร็จนั้น จะต้องมีการศึกษาหาความรู้อย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะหาทางรับมือกับปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะพบกับความสำเร็จดังกล่าว
ทุกวันนี้..เราจึงมักจะพบแต่ผู้นำที่ชอบบอกกับทุกคนว่า “ครั้งนี้..ไม่เหมือนเดิม” (ไม่มีปัญหาเหมือนอดีต) แต่ในความเป็นจริงเรากลับพบว่า “ครั้งนี้..ไม่เหมือนเดิม” จริงๆ เพราะ..มันแย่กว่าเดิมเสียอีก
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.