9 กุมภาพันธ์ 2555
4,170 views
8 อุปนิสัย ที่กูรูใช้ในการสะสม…ความมั่งคั่ง ตอนที่ 1
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
8 อุปนิสัย ที่กูรูใช้ในการสะสม…ความมั่งคั่ง ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
สัปดาห์ที่ผ่านมา.. ผมเจอเพื่อนที่เป็นนักลงทุนด้วยกัน ถามผมว่า “ทำไม.. เล่นหุ้นตั้งนานแล้ว ไม่เห็นจะรวยขึ้นเลย..” แต่ผมก็ไม่ได้ตอบคำถามนี้ไป แต่กลับมานั่งคิดและจำได้ว่าเคยอ่านบทความหนึ่งที่มีชื่อว่า “8 Trading Habits From Warren Buffett” ซึ่งแปลตามความได้ว่า “ 8 อุปนิสัยของนักลงทุน โดยวอร์เรน บัฟเฟตต์” จึงได้ไปค้นมาและเพิ่มเติมตัวอย่างเพื่อความมีอรรถรสในการอ่าน โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ
หนึ่ง ต้องมีความรู้ในการลงทุน
“Don’t do anything until you know what you are doing.” โดย Jimmy Rogers แปลตามความได้ว่า.. “อย่าลงทุน..จนกว่าคุณจะรู้ว่าคุณกำลังลงทุนกับอะไรอยู่” ในความหมายนี้ไม่ได้หมายความว่า นักลงทุนอย่างเราๆ..จะต้องมีความรู้ระดับปริญญาในสาขาวิชาการเงินหรือเศรษฐศาสตร์เสียก่อน จึงจะลงทุนได้ แต่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดที่จะไปลงทุนอย่างถ่องแท้ และเข้าใจถึงกลไกตลาดต่างๆที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการลงทุน
ตัวอย่างของการศึกษาอย่างถ่องแท้ก่อนการลงทุนคือ กรณี จอร์จ โซรอส โจมตีค่าเงินปอนด์ของอังกฤษเมื่อปี 2535 โดยโซรอสได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ของอังกฤษ สูงกว่าค่าที่แท้จริงในตลาดเสรีเป็นอย่างมาก แต่ธนาคารกลางของอังกฤษกลับไม่ยอมรับความจริงดังกล่าว และพยายามรักษาค่าเงินปอนด์ให้แข็งค่าต่อไป โซรอสจึงเริ่มโจมตีค่าเงินปอนด์ในปีดังกล่าว หลังจากต่อสู้กันอยู่ไม่นานธนาคารกลางของอังกฤษก็พ่ายแพ้และลดค่าเงินปอนด์ลง 16 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้จอร์จ โซรอส ทำกำไรได้เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากโซรอสตระหนักถึงคุณค่าของข้อมูลข่าวสารที่สามารถทำเงินได้ เขาจึงทุ่มเทเวลาเพื่อแสวงหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
สอง ต้องวางแผนการลงทุนล่วงหน้า
Ed Seykota นักลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ตัวยงเคยกล่าวไว้ว่า “The secret is for a trader to develop a system with which he is compatible.” แปลตามความได้ว่า “ความลับของนักลงทุนก็คือ เขาสามารถสร้างระบบที่เข้ากับตัวเขาได้” คำกล่าวดังกล่าวหมายถึง นักลงทุนแต่ละคนจะมีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกัน บางคนชอบความเสี่ยง บางคนชอบหุ้นที่ไม่หวือหวา บางคนชอบลงทุนในทองคำ แต่ทุกคนจะต้องมีแผนการลงทุนเป็นของตัวเอง
ตัวอย่างในข้อนี้อาจดูได้จาก “จิม โรเจอร์ส” ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนโภคภัณฑ์ระดับโลกเคยแนะให้ลงทุนระยะยาวถึง 10 ปี ซึ่งเขาคาดว่าน่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้น 300 เปอร์เซ็นต์ โรเจอร์สเคย ประมาณการแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวว่า จะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันตามความต้องการของผู้บริโภคที่เติบโตสูงในจีนและอินเดีย
นอกจากนั้น โรเจอร์สเองเชื่อว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาวตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ลดความสำคัญในการเป็นสกุลหลักในการสำรองเงินตราจากการที่สหรัฐมีหนี้สินขนาดใหญ่ และหนี้สินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทุก 15 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวางแผนของโรเจอร์สนั้น เขาวางแผนการลงทุนล่วงหน้ายาวนานถึง 10 ปีทีเดียว
สาม นักลงทุนมืออาชีพจะค้นคว้าและทดสอบแนวทางการลงทุนของตนอย่างสม่ำเสมอ
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวถึงกลยุทธ์ที่ใช้ก่อนการตัดสินใจซื้อหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งไว้ว่า “If I’m interested company, I’ll buy 100 shares of all its competitors to get their annual reports.” แปลตามความว่า “ถ้าผมสนใจบริษัทไหน.. ผมจะไปซื้อหุ้นคู่แข่งของบริษัทนั้นๆ เพื่อที่จะได้รายงานประจำปีของบรรดาบริษัทคู่แข่งมาศึกษา” กูรูนักลงทุนมักจะใช้เวลายาวนานซึ่งอาจนานถึง 5 ปีหรือ 10 ปีก็เป็นได้ เพื่อศึกษาว่าบริษัทที่ตนสนใจจะลงทุนนั้นมีศักยภาพเพียงพอ และสามารถให้ผลตอบแทนตามที่ตั้งความหวังไว้หรือไม่
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ไม่เคยลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของอเมริกาเลย แต่ไม่นานมานี้เขาได้ตัดสินใจซื้อหุ้นไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นหุ้นตัวแรกในกลุ่มเทคโนโลยีที่เขาซื้อตลอดชีวิตการลงทุนของเขากว่า 50 ปี โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้เขาได้ถือหุ้นของไอบีเอ็มไปแล้ว 5.4 เปอร์เซ็นต์ บัฟเฟตต์ให้เหตุผลที่ตัดสินใจซื้อหุ้นนั้น เกิดจากความประทับใจในโรดแมปของไอบีเอ็มที่มีความสามารถในการดึงบริษัทไอทีนอกตลาดสหรัฐเข้ามาเป็นลูกค้าได้
อย่างไรก็ตาม เขายังยืนยันว่าไม่เคยคิดเข้าไปซื้อหุ้นของไมโครซอฟท์ แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่กับผู้ก่อตั้งและประธานของบริษัทนายบิลล์ เกตส์ ก็ตาม แสดงให้เห็นถึงการค้นคว้าและทดสอบสไตล์การลงทุนอย่างแท้จริง..ก่อนการตัดสินใจลงทุน
สี่ ต้องรักษาเงินต้นไว้ให้ได้
เงินต้นที่นำมาลงทุนนั้น ในท้ายที่สุด..นักลงทุนจะต้องรักษาไว้ให้ได้ จึงจะนับได้ว่าเป็นนักลงทุนมืออาชีพ Larry Hite ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ เคยกล่าวไว้ว่า “If you don’t bet, you can’t win. If you lose all your chips, you can’t bet.” แปลตามความได้ว่า “ถ้าคุณไม่พนัน..คุณก็จะไม่มีวันชนะ แต่ถ้าคุณเสียเงินไปหมดแล้ว..คุณก็จะพนันต่อไปไม่ได้” ดังนั้นการรักษาเงินต้นไว้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนชื่อดังของเมืองไทยเคยกล่าวไว้ว่า “เซียนตัวจริงนั้น เวลาลงทุน เรื่องที่คิดมากที่สุดกลับไม่ใช่ว่าจะทำกำไรได้มหาศาลแค่ไหน แต่เป็นว่า จะรักษาเงินต้นเอาไว้ได้อย่างไร และนี่ก็คือกฎข้อหนึ่ง และข้อสองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ซึ่งบอกว่า หลักการลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าขาดทุน และอย่าขาดทุน” ดังนั้นก่อนการลงทุนทุกครั้ง..เราอาจต้องท่องคาถาในใจว่า “อย่าขาดทุน..อย่าขาดทุน..อย่าขาดทุน” เสียก่อนที่จะลงทุนทุกครั้งนะครับ
วันนี้ผมคงเขียนให้คุณผู้อ่านได้อ่านเพียง 4 ข้อเท่านั้น โปรดติดตาม “ 8 อุปนิสัย ที่กูรูใช้ในการสะสม.. ความมั่งคั่ง” ตอนจบ ในโพสต์ทูเดย์ เร็วๆนี้นะครับ
.
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.