6 กรกฎาคม 2555
1,830 views
วิกฤตหนี้ยุโรป อาจเป็น“วิกฤต…ที่เลวร้ายที่สุด” ตอนจบ
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
วิกฤตหนี้ยุโรป อาจเป็น“วิกฤต…ที่เลวร้ายที่สุด” ตอนจบ
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.facebook.com/doctorweraphong
ก่อนอื่น ผมขอทบทวนบทความนี้ในตอนที่ 1 ซักหนอ่ยนะครับ เราได้คุยกันถึงขนาดเศรษฐกิจและขนาดเงินกู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือในวิกฤตการณ์ 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยข้อที่หนึ่ง เราพูดกันถึงขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบตรงๆในวิกฤตต้มยำกุ้งมีไทย อินโดนีเซีย และอีกบางประเทศที่ต้องขอรับความช่วยเหลือ โดยทั้งหมดมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) รวมกันไม่เกิน 3 ล้านล้านดอลลาร์ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มีสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว GDP ประมาณ 15 ล้านล้านดอลลาร์ วิกฤตยูโรโซนมี 5 ประเทศที่ขอรับการช่วยเหลือ (Bailout) แต่มี 17 ประเทศเป็นสมาชิกซึ่งมี GDP รวมกัน 17 ล้านล้านดอลลาร์ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.doctorwe.com/variety/20120627/2097 )
ข้อที่สอง คือ ปริมาณเงินช่วยเหลือ วิกฤตต้มยำกุ้งใช้เงินช่วยเหลือทางตรงประมาณ 0.1 ล้านล้านดอลลาร์ ต่อมาวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่รับผลกระทบตรงๆต้องใช้เงินช่วยเหลือทางตรง ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ และกลุ่มยูโรโซน ตอนนี้ใช้เงินช่วยเหลือไปแล้ว 0.82 ล้านล้านดอลลาร์ วันนี้จะขอคุยต่อนะคร้าบ..
สาม ยาที่จะมารักษา “อาจไม่แรงพอ”
ในเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่จะส่งสัญญาณว่าจะรักษา “โรคระบาดทางการเงิน” (Financial Contagion) ให้หายเร็วหรือหายช้าได้นั่นคือ นางแองเกลา เมอร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมันเพียงคนเดียวเท่านั้น สาเหตุที่นางเมอร์เคิลมีพลังอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาได้ เป็นเพราะขนาดเศรษฐกิจของเยอรมันซึ่งมี GDP เป็นอันดับที่ 4 ของโลก และยังเป็นประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีที่สุดในกลุ่มยูโรโซน และที่สำคัญที่สุดคือ เยอรมันเป็นประเทศที่จ่ายเงินช่วยเหลือมากที่สุด
ดังนั้น ไม่ว่านางเมอร์เคิลจะแก้ปัญหาหนี้ยุโรปอย่างไร? บรรดานักลงทุนจึงฟังและมักจะตัดสินใจไปในทิศทางที่เธอจะทำ นางเมอร์เคิลได้พูดออกมาเมื่อเร็วๆนี้ว่า “Supervision and liability must go hand in hand.” แปลตามความได้ว่า “การจัดการหนี้สินและภารกิจความรับผิดชอบนั้นจะต้องไปด้วยกัน” นั่นเป็นการส่งสัญญาณว่า การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน (Bailout) จะต้องให้ไปพร้อมกับ “มาตรการการรัดเข็มขัด (Austerity)” และคงจะเป็นการบอกเป็นนัยว่า จากนี้ไปประเทศที่มีปัญหาด้านหนี้สินนั้น ประชาชนก็จะต้องมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้นอย่างแน่นอน
เมอร์เคิล ยังพูดอีกประโยคหนึ่งซึ่งชัดเจนไม่แพ้กันว่า “There is no quick solution and no simple solution. There is no magic formula with which the government debt crisis can be overcome in one go.” แปลตามความได้ว่า “มันจะไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายและรวดเร็ว มันจะไม่มีสูตรมหัศจรรย์ และวิกฤตหนี้สินของแต่ละรัฐบาลก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆเพียงชั่วข้ามคืน”
ใช่แล้วครับ คุณผู้อ่านคงเข้าใจหมดแล้วว่า นางเมอร์เคิลคิดยังไงกับการแก้ไขปัญหา “หนี้สาธารณะ” ของบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน? และคุณผู้อ่านก็คงรู้แล้วว่า วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ จะแก้ไขปัญหาได้ “เร็ว” หรือ “ช้า” ?
สี่ นักลงทุนคิดยังไง? ถ้าวิกฤตหนี้ยุโรป…แก้ได้ช้า
Paul Krugman อาจารย์และคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ผู้เคยทำนาย “ปรากฏการณ์มหัศจรรย์แห่งเอเชีย (Miracle of East Aisa)” ว่ามันจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกไม่มีนวัตกรรม หลายประเทศในเอเชียใช้เพียงค่าแรงงานถูกเพื่อขยายการส่งออก ซึ่งจะแข่งขันได้ไม่นาน และในที่สุดก็เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (Asian Crisis) หลังจากคำทำนายผ่านไปแล้ว 3 ปี
เมื่อเร็วๆนี้ Krugman ได้เขียนบทความหนึ่งที่มีชื่อว่า “The Great Abdication” ในบทความเขาได้พูดถึงเรื่องการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เชื่องช้าของกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐอเมริกา โดยยกตัวอย่างในอดีตที่ประเทศออสเตรีย ก็เคยมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งในช่วงแรกจะแก้ไขปัญหาได้ง่ายๆ แต่ไม่มีประเทศเพื่อนบ้านไหนสนใจช่วย ในที่สุดปัญหาหนี้สินของออสเตรียก็ลุกลามออกไปเรื่อยๆ จนลามไปทั่วทั้งทวีปยุโรป
วิกฤตหนี้ในยุโรปครั้งนี้ ยังถูกกดดันเพิ่มขึ้นจากบรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเอสแอนด์พี มูดี้ส์ หรือฟิทช์เรตติง บรรรดาบริษัทเหล่านี้เคยจัดอันดับผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย เมื่อครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตครั้งนี้ บรรดาบริษัทเหล่านี้จึงพยายามที่จะแก้ตัว บริษัทจัดอันดับเหล่านี้ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของทั้งประเทศและสถาบันการเงินของประเทศที่มีปัญหาลง “อย่างรวดเร็ว” และทำให้ประเทศและสถาบันการเงินที่โดนกัน ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้น พากันออกมาโวยวายถึงการทำงาน “แบบสองมาตรฐาน” ของบริษัทเหล่านี้ เมื่อเทียบกับการจัดอันดับที่ดี และลดอันดับลง “อย่างเชื่องช้า” ในสมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
หากเหตุการณ์ร้ายๆข้างต้นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะทำให้บรรดานักลงทุนแสวงหาที่ปลอดภัยสำหรับการพักพิง (Safe Haven) เงินลงทุนของเขา ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐอเมริกา สิ่งที่ไม่น่าเชื่อจึงเกิดขึ้นนั่นคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น..ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงกว่า GDP ..ประเทศที่มีอัตราคนว่างงานเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ..และเป็นประเทศที่มีหนี้สินสูงที่สุดในโลก แต่กลับทำให้นักลงทุนทั่วโลกขนเอาเงินลงทุนไปฝากไว้ที่นั่น
ดังนั้น พวกเราจึงควรจะเตรียมตัวรับสถานการณ์ “วิกฤตหนี้ยุโรป” ในครั้งนี้ไว้ด้วย ทำให้นึกถึงคำพูดของ Edward Albert นักแสดงชาวอเมริกัน ที่เคยพูดไว้ว่า “In times of life crisis, the first thing I do is go back to basics… am I eating right, am I getting enough sleep, am I getting some physical and mental exercise everyday.” แปลตามความได้ว่า “ในยามที่เกิดวิกฤต สิ่งแรกที่ผมจะทำก็คือ การกลับไปสู่พื้นฐาน ผมจะทานอาหารอย่างถูกต้อง ผมจะนอนอย่างเพียงพอ และผมก็จะออกกำลังทั้งกายและจิตใจทุกวัน” หวังว่าวิธีของเขาอาจจะช่วยคุณผู้อ่านให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้บ้างนะครับ : )
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Sorry, comments for this entry are closed at this time.