1 เมษายน 2556
3,746 views
วิกฤตไซปรัส: วิกฤต หรือ…โอกาส
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
วิกฤตไซปรัส: วิกฤต หรือ…โอกาส
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.facebook.com/doctorweraphong
วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยูโรโซนได้กลับมาหลอกหลอนบรรดานักลงทุนทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงไปถึง 50.55 จุดภายในวันเดียว และมียอดซื้อขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1 แสนล้านบาท ผมเอง..ไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นลางร้ายสำหรับตลาดหุ้นเมืองไทยหรือเปล่า? ผมจึงอยากให้ข้อมูลเท่าที่ผมมีอยู่ เพื่อให้คุณผู้อ่านโดยเฉพาะท่านที่เป็นนักลงทุน “มีสติ” ในการลงทุนต่อไป ดังนี้ครับ
หนึ่ง “ต้นเหตุ” ปัญหาของไซปรัส
สาธารณะไซปรัส เป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มยูโรโซน ดังนั้นไซปรัสจึงต้องใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลหลักของประเทศด้วยเช่นกัน ไซปรัสมีจำนวนประชากรประมาณ 1 ล้านคน และมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 24 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก (ประเทศไทยน่าจะมีประมาณ 370 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 15 เท่าของไซปรัส)
ไซปรัส มีธุรกิจภาคการเงินที่ใหญ่มาก มีเงินฝากจำนวนมหาศาลคาดว่าประมาณ 8 เท่าของขนาดจีดีพี เงินส่วนใหญ่จะมาจากนักธุรกิจชาวรัสเซีย และไซปรัสก็มีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีว่าเป็นหนึ่งใน
“แหล่งฟอกเงินของโลก” พอหลายๆประเทศในกลุ่มยูโรโซนมีปัญหา เงินฝากจำนวนมหาศาลก็หลั่งไหลออกจากไซปรัสไปอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
สอง วิธีการ “แก้ปัญหา” ของไซปรัส
เมื่อไซปรัสขาดสภาพคล่อง ก็เป็นธรรมเนียมที่จะต้องไปคุยกับหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อว่า “ทรอยกา” ซึ่งประกอบไปด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) และสหภาพยุโรป โดยยื่นขอเสนอขอกู้เงินจำนวน 100,000 ล้านยูโร แต่ต้องแลกกับมาตรการรัดเข็มขัดโดยจะต้องหาเงินจำนวน 58,000 ล้านดอลลาร์ให้ได้
“ทรอยกา” ได้บังคับให้ไซปรัสหักภาษีเงินฝากประชาชนที่ฝากไม่เกิน 100,000 ยูโรจะถูกหัก 6.9% และที่ฝากเกิน 100,000 ยูโรจะถูกหัก 9.9% เพื่อให้ได้เงินจำนวนดังกล่าว แต่รัฐสภาไซปรัสโหวตไม่ผ่านหลักการดังกล่าว ทำให้ไซปรัสต้องหันไปพึ่งมิตรประเทศที่ฝากความหวังไว้นั่นคือ รัสเซีย แต่ในที่สุด..รัสเซียก็ปฎิเสธการขอกู้เงินของไซปรัส
สาม เมื่อไซปรัสยังต้อง “ดิ้นรน” หาทางออก
หลังจากถูกปฎิเสธการขอเงินกู้ดังกล่าว ไซปรัสจึงต้องหันกลับไปคุยกับทรอยกาเกี่ยวกับการขอเงินกู้ต่อไป โดยวิธีการที่ออกมาในช่วงแรกจะเป็นการใช้ “เงินบำนาญ” และ “เงินสวัสดิการสังคม” ของประชาชนชาวไซปรัส ซึ่งในปัจจุบันก็ดำรงชีวิตอย่างยากลำบากอยู่แล้ว หากเงินดังกล่าวที่จะมาช่วยเจือจุนหายไปในพริบตา รัฐบาลก็คงจะต้องเจอกับ “การลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ของ..ประชาชนชาวไซปรัส” อย่างแน่นอน
รัฐบาลไซปรัสจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งดังกล่าว โดยการนำวิธีการหักภาษีเงินฝากประชาชนมาใช้อีกครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้รัฐบาลไซปรัสจะไม่มีการหักภาษีใดๆต่อบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากน้อยกว่า 1 แสนยูโร แต่จะไปเล็งใช้วิธีดังกล่าวกับบัญชีเงินฝากที่มียอดสูงกว่า 1 แสนยูโร ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นเงินฝากของนักธุรกิจชาวรัสเซีย โดยมาตรการภาษีเงินฝากที่จะนำมาใช้กับบัญชีที่มีเงินฝากจำนวนมากนั้นอาจต้องถูกหักภาษีสูงถึง 20%
สี่ ปัญหาของไซปรัส… “ใกล้จะจบแล้ว” ใช่ไหม?
ผมเองมองว่า ไซปรัสและบรรดาประเทศที่มีหนี้สาธารณะในระดับสูงในกลุ่มยูโรโซน ยังจะต้องผจญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องและวิกฤตการเงินเป็นระยะๆต่อไป และจะไม่มีทางจบสิ้นลงในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้
สาเหตุเป็นเพราะว่า บรรดาปัญหาดังกล่าวยังไม่ถึงจุดต่ำสุดเลย ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ไซปรัสได้รับเงินกู้จากทรอยกาแล้ว ไซปรัสคงจะต้องเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกครั้งใหญ่ และอาจจะเป็น “เงินไหลออกที่มีจำนวนสูงสุด..ในประวัติศาสตร์” ของไซปรัส หากไซปรัสแก้ปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้เร็ว ก็อาจทำให้เงินทุนไหลกลับ แต่หากใช้วิธีหักภาษีเงินฝากดังกล่าวแล้ว ในที่สุดนักลงทุนชาวรัสเซีย..ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่สุดของไซปรัส ก็คงเข็ดขยาด..และไม่กล้ากลับมาข้องแวะกับไซปรัสอีกต่อไป
ห้า “ชะตากรรม” ของตลาดหุ้นไทย ต่อไป..จะเป็นอย่างไร?
ประเทศไทยในมุมมองของผม เราพึ่งพาการส่งออกสูงมากถึงประมาณ 70% ของจีดีพีของประเทศ นั่นแสดงให้เห็นว่า ถ้าการส่งออกของไทยมีปัญหาแล้ว ประชาชนคนไทยคงต้องเจอกับปัญหาการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน ดังนั้นเราควรจะพิจารณาแนวโน้มการส่งออกของไทยกันซักหน่อย
ตัวเลขการส่งออกของไทย ถ้ามองแบบง่ายๆอาจพอสรุปเป็นภาพกว้างๆได้ว่า ไทยส่งออกไปยุโรปประมาณ 10-20% ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปริมาณใกล้เคียงกับยุโรปคือ 10-20% และส่งออกไปยังประเทศในเอเชียด้วยกันมากกว่า 60% ด้วยตัวเลขดังกล่าว คุณผู้อ่านเห็นไหมครับว่า ประเทศไทยจะลำบากมากไหม?..ถ้าประเทศไซปรัสล้มละลาย ขณะที่คู่ค้าในเอเชียของเราส่วนใหญ่ยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่
ดังนั้นในเวลานี้ คุณผู้อ่านคงจะต้อง “มีสติ” และตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ ส่วนตัวผมเองกลับคิดว่า นอกจากตลาดหุ้นไทยจะไม่ย่ำแย่ตามอีกหลายๆตลาดในโลกแล้ว ผมยังคิดต่อว่า…อีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ ประเทศไทยอาจจะเป็น “หนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดในโลก” อีกด้วย
วิกฤตไซปรัสครั้งนี้ ผมจึงไม่แน่ใจว่า มันเป็น…วิกฤต หรือมันเป็น…โอกาส กันแน่?
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment