17 กันยายน 2556
1,381 views
ตัวเลข 4 รายการ ที่กำหนด…“ชีวิตมนุษย์”
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
ตัวเลข 4 รายการ ที่กำหนด…“ชีวิตมนุษย์”
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.facebook.com/doctorweraphong
คุณผู้อ่าน รู้จัก “สมการการเงิน” ที่เห็นอยู่ด้านล่างนี้ไหมครับ?
รายได้ – รายจ่าย = เงินออม
แต่ “รายได้” ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ประกอบไปด้วย รายได้ที่ต้องทำงาน และรายได้ที่ไม่ต้องทำงาน ดังนั้นสมการดังกล่าวจะกลายเป็นดังนี้
(รายได้ที่ต้องทำงาน + รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน) – รายจ่าย = เงินออม
จากสมการข้างต้น จะมีตัวเลขเพียง 4 รายการ ที่จะสามารถกำหนดชีวิตของคุณได้
1. รายได้ที่ต้องทำงาน (Active Income)ตัวเลข 4 รายการ ที่กำหนด… “ชีวิตมนุษย์” ได้ก็คือ
- 2. รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน (Passive Income)
- 3. รายจ่าย (Expenses)
- 4. เงินออม (Savings)
ในความเป็นจริง คนเกือบทุกคนบนโลกใบนี้คงไม่สามารถหลีกหนีการใช้ชีวิตโดยปราศจากตัวเลขทั้ง 4 รายการนี้ไปได้ โดยตัวเลขที่ควรจะต้องเรียนรู้ทั้ง 4 รายการมีรายละเอียดดังนี้คือ
หนึ่ง รายได้ที่ต้องทำงาน (Active Income)
หมายถึง รายได้ที่ได้ที่ต้องทำงานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากเงินเดือน เงินโบนัส คอมมิชชั่น เงินพิเศษต่างๆ หรือในกรณีที่เป็นเจ้าของกิจการก็มักจะมีรายได้จากกิจการโดยตรง เช่น ผลกำไร หรืออื่นๆ ดังนั้นรายได้ที่ต้องทำงาน (Active Income) นี้จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ
- รายได้ที่ต้องทำงานเป็นประจำ ได้แก่ มนุษย์เงินเดือน คนทำงานฟรีแลนซ์ (Freelance) หรือการทำงานที่ใช้แรงกายและสติปัญญาเป็นครั้งๆไปเพื่อแลกกับค่าตอบแทน
- รายได้จากการเป็นเจ้าของกิจการประเภทที่จะต้องเข้าไปทำงานอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการจัดการดูแลหรือการจัดการด้านการเงินของกิจการนั้นๆยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
สอง รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน (Passive Income)
รายได้ตัวนี้..ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่ต้องทำงานเลย แต่หมายความว่า คุณควรจะต้องวางแผนในการทำธุรกิจหรือการลงทุนในทุกขั้นตอน และการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจหรือการลงทุนนั้นๆ… ได้คำนึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นไว้แล้ว หากประสบความสำเร็จด้วยดี หลังจากนั้น…ก็เพียงแต่ติดตามให้มันเป็นไปตามแผนที่วางไว้เท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วยรายได้ดังต่อไปนี้
- รายได้ที่มาจากธุรกิจ ไม่ว่าตนจะเป็นเจ้าของหรือมีหุ้นส่วนด้วยก็ตาม
- ค่าเช่า จากอสังหาริมทรัพย์ที่ตนถือครองอยู่
- ค่าลิขสิทธิ์ ที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นค่าลิขสิทธิ์หนังสือ ค่าลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ และอื่นๆ
- รายได้ที่ได้จากการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นค่าโฆษณา ค่าคอมมิชชั่น อื่นๆ
- เงินปันผลหรือดอกเบี้ย ที่ได้จากการฝากเงินในธนาคาร พันธบัตร ตราสารหนี้ หรือหลักทรัพย์ต่างๆ
- สวัสดิการต่างๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำนาญ เงินผู้สูงอายุ และรายได้ต่างๆ
สาม รายจ่าย (Expenses)
คุณผู้อ่านหลายท่านที่อ่านรายการนี้แล้ว อาจคิดว่ารายจ่ายเป็นรายการที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รายจ่ายจะมีบทบาทอย่างมากในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกัน เท่าที่ผมลองศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของรายจ่ายนั้น ผมพบแนวทางบางแนวทางที่น่าสนใจในการวางแผนเรื่องรายจ่าย ดังนี้ครับ
- ค่าผ่อนบ้าน ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งหมด
โดยส่วนใหญ่สถาบันการเงินในเมืองไทย มักจะตรวจเช็คประวัติของคนที่จะขอกู้บ้านอย่างละเอียด แล้วมักจะตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 30% ของรายได้ทั้งหมด เช่น สามีภรรยามีรายได้รวมกัน 80,000 บาท ก็ควรจะสามารถผ่อนบ้านได้ไม่เกิน 30% นั่นคือไม่เกิน 24,000 บาทนั่นเอง ดังนั้นคุณผู้อ่านจึงควรใช้เกณฑ์นี้ในการประมาณการในการวางแผนรายจ่าย
- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์ ไม่เกิน 20% ของรายได้ทั้งหมด
ค่าผ่อนรถนับได้ว่าเป็นรายการรายจ่ายที่สำคัญมากรองจากค่าผ่อนบ้าน นอกจากนั้นยังได้ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมาอีก เช่น ค่าประกันรถยนต์ ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา และค่าซ่อมแซม
- สูตรสำเร็จ 60% ของ ริชาร์ด เจนกินส์
ริชาร์ด เจนกินส์ (Richard Jenkins) ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าบรรณาธิการของ MSN Money ได้เคยกล่าวถึงสูตรสำเร็จ 60% (The 60% Solution) ที่ได้พูดถึงการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ โดยการควบคุมให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ ค่าดูแลลูก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ทั้งหมดไม่เกิน 60%
หลังจากนั้นก็จะมีเงินเหลืออีก 40% ก็ให้แบ่งออกเป็น 4 รายการๆละ 10% โดยมีรายการดังนี้
- เพื่อการเกษียณอายุ 10%
- เพื่อการออมระยะยาว 10%
- เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน 10%
- เพื่อให้เป็นรางวัลแก่ชีวิต 10% เช่น การให้ของขวัญชิ้นใหญ่แก่คนที่คุณรัก
เจนกินส์ ยังให้แนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บรรดาหนุ่มสาวที่เริ่มต้นสร้างครอบครัว โดยรายการที่หนึ่ง..เพื่อการเกษียณอายุ และรายการที่สอง..เพื่อการออมระยะยาวนั้น รวมเป็นเงินออมทั้งสิ้น 20% อาจนำไปใช้ในการจ่ายหนี้ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงแรกเสียก่อน ซึ่งอาจจะเป็นค่าผ่อนบ้าน หรือค่ารถยนต์ เป็นต้น แต่ยังให้คงการออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน และเงินออมเพื่อให้เป็นรางวัลแก่ชีวิตไว้รายการละ 10% เหมือนเดิม จนกว่าการผ่อนบ้านและการผ่อนรายการใหญ่ๆจะหมดไปเสียก่อน จึงค่อยเริ่มต้นออมในรายการที่หนึ่ง และรายการที่สองในภายหลัง
สี่ เงินออม (Savings)
เงินออม คือ เงินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว และจะไม่มีการใช้จ่ายใดๆออกไปอีกเลย ซึ่งการสะสมเงินออมนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องมีวินัยอย่างสูง ในการเก็บรวบรวมและอดออมเป็นระยะเวลายาวนาน จุดมุ่งหมายของเงินออม โดยทั่วไปมีไว้เพื่อการใช้จ่ายในยามที่ผู้ออมไม่สามารถหารายได้แล้ว หรือผู้ออมหารายได้ได้น้อยลง
“อิสรภาพทางการเงิน” เป็นคำๆหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินออม ประเด็นสำคัญของ “อิสรภาพทางการเงิน” คือ คนๆนั้นจะต้องมีทรัพย์สินหรือธุรกิจที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ และรายได้ที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นนั้นจะต้องสูงกว่า…ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของคนๆนั้น นั่นเอง
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment