24 มกราคม 2557
1,290 views
วิกฤต..ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หุ้นไทย..ก็ยังคงอยู่ ตอนจบ
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
วิกฤต..ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หุ้นไทย..ก็ยังคงอยู่ ตอนจบ
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.facebook.com/DoctorweClub
เมื่อวานนี้เราได้คุยกันไปบ้างแล้วถึงวิกฤตการณ์สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทย ในวันนี้ผมจะขอพาคุณผู้อ่านมาคุยกันต่อเลย ดังนี้ครับ
ปี 2540 วิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง”
วิกฤตการณ์ครั้งนี้เริ่มจากปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน จนทำให้นักลงทุนต่างชาติโจมตีค่าเงินบาทอย่างรุนแรง ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลค่าเงินบาท ได้ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศปกป้องค่าเงินบาทไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในค่าเงินบาท จนนำมาสู่การตัดสินใจในการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวแบบ Managed Float ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และตามมาด้วยการประกาศปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอย่างถาวร ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกต่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่ง
ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือนมกราคม 2539 จากระดับ 1,410.33 จุด ดำดิ่งลงมาตลอดสู่ระดับต่ำสุดที่ 457.97 จุด ในเดือนมิถุนายน 2540 คิดเป็นลดลงถึง 953 จุด หรือ 67% ภายในระยะเวลา 17 เดือน ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของตลาดหุ้นไทย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยดำดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 207 จุดในเดือนกัยยายน 2541 เป็นช่วงขาลงที่ยาวนานที่สุดถึง 33 เดือน นับแต่ต้นปี 2539 ดัชนีปรับตัวลดลง 1,203 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 85%
ปี 2544 เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เมื่อผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด ในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้ได้สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าไม่เว้นดัชนีตลาดหุ้นไทยด้วย โดยพบว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดอยู่ที่ระดับ 330 จุด หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาปิดที่ระดับ 266 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลงประมาณ 19%
ปี 2549 มาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาทแข็งค่า ของธนาคารแห่งประเทศไทย
เป็นเหตุการณ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการสะกัดกั้นค่าเงินบาท…แข็งค่า ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลที่ ธปท. ประกาศใช้มาตรการสำรอง 30% สำหรับการนำเข้าเงินทุนระยะสั้น การประกาศมีขึ้นในตอนเย็นของวันที่ 18 ธันวาคม 2549 หลังตลาดหุ้นปิดไปแล้ว
จากนั้นเช้าวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ทันทีที่ตลาดหุ้นเปิด…บรรดาหุ้นทั้งหลายก็ดำดิ่งลงทันทีโดยดัชนีติดลบกว่า 100 จุด ก่อนจะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที ตลาดปิดภาคเช้าติดลบไป 83 จุด ในภาคบ่ายตลาดรูดลงไปมากสุดถึง 142.63 จุด และปิดตลาดที่ระดับ 622.14 ลดลง 108.41 จุด หรือ 14.84% ซึ่งเป็นดัชนีที่ปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ในวันนั้นเพียงวันเดียวมูลค่าตลาดหุ้นไทยลดลงไปกว่า 5 แสนล้านบาท
ปี 2551 วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์
วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในปี 2551 เกิดจากการปัญหาการปล่อยกู้ที่ไม่มีคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดทุนและตลาดเงินเป็นวงกว้าง โดยวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามจากสหรัฐอเมริกาไปสู่…ยุโรป …เข้าสู่เอเชีย …และกระจายออกไปทั่วโลก
โดยตั้งแต่ต้นปี 2551 ต่างชาติเริ่มเทขายหุ้นของบริษัทต่างๆในภูมิภาคเอเชียออกมา เพื่อนำเงินกลับไปพยุงบริษัทแม่ที่กำลังประสบปัญหา ความแรงของการเทขายยังมีอย่างต่อเนื่องเพราะความวิตกกังวลจากนักลงทุน การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ เพื่อพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราวในช่วงเดือนตุลาคมในปีนั้นถึง 2 ครั้ง หลังดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงถึง 10% ภายในวันเดียว
วันที่ 15 กันยายน 2551 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา “เลแมน บราเดอร์ส” ขอยื่นล้มละลาย ส่งผลทางจิตวิทยาอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง และตลาดหุ้นไทยก็ได้ซึมซับรับพิษไปอย่างแสนสาหัสด้วยเช่นกัน โดยดัชนีมาแตะในระดับต่ำสุดที่ 380.05 จุด ในวันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน ทั้งที่ในต้นปีเดียวกันนั้น ณ วันที่ 2 มกราคม 2551 ดัชนีตลาดหุ้นยังปิดอยู่ที่ 842.97 จุด
ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ประเทศไทยก็ยังคงประสบกับวิบากกรรมทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่คนไทยเคยประสบพบมา อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ต่างๆในอดีตที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว รวมทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ก็อาจเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หุ้นไทยก็ยังคงอยู่ และราคาหุ้นก็จะกลับมาในระดับราคาที่เป็นตัวของมันเอง เมื่อเหตุการณ์ต่างๆเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ด้วยเหตุผลนี้เองได้ทำให้ผมยังคงเชื่อมั่นและศรัทธาในหุ้นไทยเสมอมา เพราะเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้นได้พิสูจน์แล้วว่า “วิกฤต..ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หุ้นไทย..ก็ยังคงอยู่”
ดังนั้น หากคุณผู้อ่านคิดจะลงทุนในตลาดหุ้น คำถามที่เราอาจต้องถามตัวเราเองก็คือ
ในยามที่เกิด “วิกฤต” เราจะรอดพ้นจาก…วิกฤตเหล่านั้น ไปได้อย่างไร?
และในยามที่เกิด “โอกาส” เราจะมีเงินสดเพียงพอ…ที่จะคว้าโอกาสนั้นๆไว้ ได้หรือไม่?
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment