4 กุมภาพันธ์ 2558
2,058 views
พอล ครุกแมน …บุรุษผู้เคยทำนายว่า “เอเชีย..จะเจ๊ง”
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
พอล ครุกแมน …บุรุษผู้เคยทำนายว่า “เอเชีย..จะเจ๊ง”
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พอล โรบิน ครุกแมน (Paul Robin Krugman) เขาเกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2493 เขาเป็นศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์และสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในปี 2551 ครุกแมนได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันถึงความสามารถของเขา นอกจากนั้นเขายังเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังในหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า “เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ส”
หนึ่งในบทความของครุกแมนที่ได้สร้างชื่อเสียงให้เขาดังก้องโลกก็คือ เรื่องของ “ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียตะวันออก” (East Asian Miracle) ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2537 (ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 เพียง 3 ปี) ก่อนปี 2537 ดูเหมือนว่าหลายๆประเทศในเอเชียจะมีเศรษฐกิจที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เริ่มจาก “4 เสือแห่งเอเชีย” ที่ประกอบไปด้วย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ตามมาด้วยประเทศในกลุ่มที่สองที่มี ไทย มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ ประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวก็เคยเติบโตถึง 13% สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายๆประเทศในภูมิภาคนี้มั่นใจในเศรษฐกิจของตนเองว่าจะดีวันดีคืน…เจริญเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง และจะไม่มีสิ่งใดมาหยุดยั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติของตนไปได้เลย
และแล้ว… พอล ครุกแมน ก็เป็นคนแรกที่ท้าทายความเชื่อดังกล่าว ครุกแมนกล่าวไว้ในบทความว่า “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเหล่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไม่ได้เป็นโมเดลทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่อะไรเลย เพียงแต่การเติบโตเหล่านั้นอาศัยการหลั่งไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล และการพึ่งพาแรงงานราคาถูกของประเทศเพียงเท่านั้นเอง” ครุกแมนยังขยายความต่อไปอีกว่า “ในระยะยาว… เมื่อเงินทุนจากต่างประเทศไหลออก หรือประเทศเกิดใหม่ๆอีกหลายประเทศสามารถสนองตอบความต้องการของตลาดด้วยค่าแรงงานที่ถูกกว่าประเทศเหล่านี้ …ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียตะวันออก…ที่พูดถึง ก็มีโอกาสที่จะล่มสลายไปได้ทุกเมื่อ”
ความจริงที่หนีไม่พ้น… และแล้วในปี 2540 ก็เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ มีเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคนี้จำนวนมหาศาล จนหลายๆประเทศในย่านนี้เริ่มมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และในที่สุด…ประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกที่ขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ตรงตามคำทำนายของครุกแมนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ถึง 3 ปี
ในปี 2558 นี้ ครุกแมนก็ได้ส่งสัญญาณออกมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ในงาน Asian Financial Forum ที่จัดขึ้นที่ฮ่องกง โดยเขากล่าวว่า “จีน…ทำให้ผมกลัว” เพราะครุกแมนมองว่า จีนกำลังจะเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จากเมื่อก่อนที่จีนใช้ “เงินลงทุนจำนวนมหาศาล” เพื่ออัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของตนเติบโต แต่ทุกวันนี้ จีนกำลังจะเปลี่ยนไปใช้ “การบริโภคภายในประเทศ” มาเป็นตัวขับเคลื่อนแทน
ครุกแมนยังได้ขยายความคำพูดดังกล่าวของเขาว่า “มันไม่ได้ทำให้ผมกลัว เพียงเพราะว่านโยบายของรัฐบาลจีนถูกหรือผิด แต่มันเกี่ยวข้องกับขนาดของการปรับตัวต่างหาก” ครุกแมนมองว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับมากกว่า 10% เป็นเวลาหลายต่อหลายปี แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าอัตราการเจริญเติบโตดังกล่าวจะไม่จีรังยั่งยืนต่อไปอีกแล้ว ล่าสุดเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตของจีนลดลงเหลือ 7.4% ซึ่งถือได้ว่าต่ำที่สุดในรอบ 24 ปี
ครุกแมนตอกย้ำความคิดของเขาในเรื่องนี้ด้วยการพูดว่า “ผมจะแปลกใจมาก ถ้าจีนจะไม่ประสบกับสภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจเลย..ระหว่างการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้” ครุกแมนยังมองไปในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยว่า การลงทุนของจีนจะลดลง ในขณะที่การบริโภคจะยังไม่สามารถมาชดเชยส่วนที่ขาดไปนี้ได้
หนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของจีนก็คือ ปัญหาเรื่องประชากรของจีนเอง เนื่องจากการที่จีนมีนโยบาย “ลูกคนเดียว” กอปรกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็นเวลานาน ก็ได้ทำให้คนจีนจำนวนมหาศาลได้ย้ายถิ่นฐานจากชนบทมาสู่ในเมือง..เพื่องานที่มีรายได้มากกว่า ทุกวันนี้การขาดแคลนแรงงานในจีนเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้ว
นอกจากนั้น นิสัยของคนจีนที่มีนิสัย “ประหยัดสุดขีด” โดยไม่ชอบใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ ก็ได้ทำให้นโยบายสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศของจีนประสบกับความยากลำบากตามไปด้วย แต่รัฐบาลจีนก็ยังคงพยายามหาหนทางที่จะให้ประชาชนของตนออกมาใช้จ่ายซื้อสินค้ากันมากๆ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องหันกลับมาใช้นโยบายการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐบาลจีนในระยะยาว
ครุกแมนยังมองถึงทางเลือกที่รัฐบาลจีนอาจนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายสวัสดิการทางสังคมขึ้นมา เพราะจะทำให้ประชาชนจีนต้องจ่ายเงินบางส่วนออกมาให้แก่กองทุนนี้ และยังจะเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศไปในตัวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ครุกแมนเองก็ยังไม่ทราบว่า รัฐบาลจีนจะเลือกแนวทางไหน? และเศรษฐกิจของจีนจะประสบภาวะตกต่ำมากน้อย และยาวนานเพียงใด?
แต่โชคดี…ที่เห็นกันแน่ๆก็คือ ครั้งนี้…ครุกแมนไม่ได้พูดถึงประเทศเลย : )
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment