8 กุมภาพันธ์ 2559
909 views
“Sell Everything” = ขายมันทุกอย่าง…จริงหรือ? ตอนที่ 1
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
“Sell Everything” = ขายมันทุกอย่าง…จริงหรือ? ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์
www.doctorwe.com
ผมได้อ่านบทวิเคราะห์ของคุณแอนดรู โรเบิร์ตส (Andrew Roberts) ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร Royal Bank of Scotland (RBS) ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของอังกฤษ ในบทวิเคราะห์ของเขา เขาได้แนะนำลูกค้าของเขาว่า “Sell everything except for high-quality bonds” ซึ่งแปลตามความว่า “ขายมันทุกอย่าง ยกเว้นตราสารหนี้คุณภาพสูง” โดยเขาได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ในเวลานี้ว่า เหมือนกับวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 เพียงแต่วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่ได้เกิดที่บริษัทเลแมนน์ บราเดอร์ แต่มันจะไปเกิดที่…ประเทศจีน
โรเบิร์ตสได้ยกเหตุการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นธงแดง (Red Flags) ทางเศรษฐกิจที่เขาเฝ้ามองอยู่ นับตั้งแต่การตกต่ำของราคาน้ำมัน ความผันผวนของตลาดการเงิน มูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น สภาวะเงินฝืด และการให้กู้ยืมในภาคธุรกิจที่อ่อนแอที่ล้วนเกิดขึ้นในจีนแล้วทั้งนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นมุมมองหลายๆด้าน ผมจึงอยากเสนอมุมมองจากนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่าน เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ ดังนี้ครับ
หนึ่ง เศรษฐกิจจีน…มีปัญหา จริงหรือไม่?
ก่อนที่จะตอบคำถามข้อนี้ ผมอยากจะพาคุณผู้อ่านย้อนกลับไปที่ปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา ตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน และในประเทศญี่ปุ่น ทุกประเทศที่กล่าวถึงนี้ได้ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบอย่างมโหฬาร (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม “เฟดขึ้นดอกเบี้ย ทำไม? เมื่อไร? ผลต่อไทย?” โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 ตุลาคม 2558 หรือที่ http://www.doctorwe.com/posttoday/20151006/6308 ) รวมแล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์
จำนวนเงินมหึมาก้อนนี้…ยังไม่ได้ไหลออกไปจากระบบเลย ส่วนหนึ่งของเงินเหล่านี้ได้ไหลไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก และนำมาซึ่งฟองสบู่ทางเศรษฐกิจในจีนด้วย ปลายปีที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ทำให้เงินจำนวนนี้บางส่วนไหลกลับไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า ผสมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี ก็ยิ่งซ้ำเติมให้จีนต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินทุนไหลออกจำนวนมหาศาล
นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งที่มีชื่อว่า เจพี สมิธ (JP Smith) ซึ่งทำงานอยู่ที่ Deutsche Bank สมิธเป็นนักวิเคราะห์ที่เก่งกาจมาก เขาเคยทำนายเรื่องวิกฤตตลาดหุ้นรัสเซียในปี 2541 ได้อย่างถูกต้อง สมิธได้คาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนในปีนี้ว่า “มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า เงินทุนจะไหลออกประเทศจีนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2559” สมิธมองว่า จีนคงจะต้องใช้เงินสำรองระหว่างประเทศประมาณ 1 – 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปปกป้องค่าเงินหยวน และปกป้องไม่ให้เม็ดเงินเกิดการไหลออกอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนคงอยากให้ค่าเงินหยวนตกลงมามากๆ…เพื่อที่จะช่วยเหลือภาคการส่งออก
ขณะที่ธนาคารอเมริกา (Bank of America) ออกรายงานระบุว่า “เศรษฐกิจจีนจะค่อยๆชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป” และยังทำนายว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ประมาณ 6.6% ต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์กันว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนจะโต 6.9%
ปัจจุบันนี้ จีนได้ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศของตนไปเป็นจำนวนมาก เพื่อปกป้องการลดลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินหยวน โดยพบว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว จีนมีเงินสำรองฯอยู่ที่ 3.99 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้วกลับลดลงมาเหลือ 3.43 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นเงินสำรองฯที่ต่ำที่สุดในระยะเวลาเกือบสามปี ดังนั้น จีน…ยังคงจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีนี้อย่างแน่นอน
สอง ประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
ประเทศในตลาดเกิดใหม่ก็คือ ประเทศที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจบางอย่างที่พัฒนาแล้ว แต่ยังไม่ได้มีมาตรฐานเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง ซึ่งเวลาเราคุยถึงบรรดาประเทศในกลุ่มนี้ เราจะนึกถึง กลุ่ม BRIC (Brazil, Russia, India, China) และบางท่านก็อาจจะนึกถึงประเทศที่เป็นตลาดใหญ่อีก 5 ประเทศคือ เกาหลีใต้ เม็กซิโก อินโดนีเซีย ตุรกี และซาอุดิอาราเบีย ทั้งนี้ยังรวมถึงประเทศไทย ประเทศในเอเชีย และลาตินอเมริกาเกือบทั้งหมด
ในปีที่ผ่านมาและในปีนี้ ดูเหมือนว่าดัชนี MSCI Emerging Markets Index ที่เป็นดัชนีสะท้อนภาพตลาดหุ้นของตลาดเกิดใหม่ได้สะท้อนภาพการตกลงมาของดัชนีที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยตกลงมาถึง 7.9% ซึ่งมีตกลงมาต่ำกว่าปี 2541 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 เสียอีก ดังภาพที่แสดงด้านล่างนี้
ดอน ทาวน์สวิค (Don Townswick) ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตราสารทุน ของบริษัท Conning Inc. กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “เรากำลังอยู่ในทิศทางตลาดปรับตัวขาลงอย่างแท้จริง”
พบกับบทความ “Sell Everything” = ขายมันทุกอย่าง…จริงหรือ? ตอนจบ ได้ต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ แล้วพบกันครับ
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment