24 พฤษภาคม 2559
2,136 views
“Zombie Economy” ของญี่ปุ่น ตอนที่ 1
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
“Zombie Economy” ของญี่ปุ่น ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
www.doctorwe.com
ในเวลานี้… คงมีคุณผู้อ่านหลายท่านที่มีความรู้สึกว่า เศรษฐกิจของไทยในเวลานี้มีอาการเซื่องซึม และคงต้องรอสักอีกสักระยะหนึ่งกว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น คนญี่ปุ่นเอง…ก็เหมือนกัน เพียงแต่ของไทยเราน่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี (จำได้ว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นล่าสุดน่าจะในปี 2555 และหวังว่าจะกลับมาดีอีกก็น่าจะในปี 2560 หรือ 2561) แต่ของญี่ปุ่นใช้เวลามาเกือบ 30 ปี ปัจจุบัน…ก็ยังไม่เห็นฝั่งฝันเลย ผมจึงอยากนำเรื่อง “Zombie Economy” หรือ “ภาวะเศรษฐกิจแบบผีดิบ” จะอยู่…ก็ลำบาก จะตาย…ก็ตายไม่ได้ มาเป็นอุทาหรณ์ให้คุณผู้อ่านได้อ่านกัน ดังนี้ครับ
เมื่อสินค้าญี่ปุ่น…แสดงอิทธิฤทธิ์
คุณผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 กันมาบ้าง และบางท่านก็คงรู้ดีว่า ญี่ปุ่นได้รับความพ่ายแพ้จากสงครามในครั้งนั้นอย่างยับเยิน ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนีก็พยายามที่จะพัฒนาประเทศตนให้กลับมามีสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาดีเหมือนเดิมให้จงได้ ญี่ปุ่นเองได้รับเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก ด้วยการลอกเลียนแบบและต่อยอดเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มผลิตสินค้าที่มีหลากหลายยี่ห้อออกไปสู่ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า ดัทสัน (นิสสัน) โซนี่ เนชั่นแนล (พานาโซนิค) เป็นต้น แต่สินค้าในช่วงแรกก็ขายได้ไม่ดีนัก
ในปี 2513 องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (Organization of Petroleum Exporting Countries – OPEC) ก็ได้รวมหัวกันควบคุมโควตาการส่งออกน้ำมัน และบีบให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากประมาณ 10 ดอลลาร์ พุ่งขึ้นไปถึงกว่า 35 ดอลลาร์ หลังจากนั้นรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มีขนาดเล็กและกินน้ำมันน้อยกว่ารถยนต์คันใหญ่ของอเมริกา ก็เข้าไปตีตลาดรถยนต์ของอเมริกากระเจิง และทำให้รถยนต์ญี่ปุ่นมีบทบาทสูงในตลาดโลก ต่อมาญี่ปุ่นได้ดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าไปทั่วโลก โดยสินค้าญี่ปุ่นจะมีราคาที่ถูกและคุณภาพที่ใช้ได้ได้ไปตีตลาดสินค้าท้องถิ่นในหลายๆประเทศขายอย่างรุนแรง และทำให้ธุรกิจร้านค้าในหลายประเทศต้องล้มละลายไป จึงได้สร้างความเกลียดชังและโกรธแค้นให้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จนมีหลายประเทศให้สมญานามญี่ปุ่นว่า “สัตว์เศรษฐกิจแห่งเอเชีย”
พอมาถึงช่วงปี 2523 ถึง 2528 ค่าเงินของอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่นและค่าเงินดอยช์มาร์คของเยอรมนี ซึ่งปัญหาเรื่องค่าเงินก็ได้ทำให้อุตสาหกรรมหลายประเภทของอเมริกาประสบกับความยากลำบากในการทำธุรกิจ จึงทำให้หลายๆบริษัทพากันออกมาเดินขบวนและสร้างกระแสการกีดกันสินค้าจากต่างชาติที่เข้ามาตัดราคาโดยอาศัยค่าเงินที่ต่ำกว่า ได้แก่ ไอบีเอ็ม (IBM), แคทเตอร์พิลลาร์ (Caterpillar), โมโตโรลา (Motorola) เป็นต้น โดยมุ่งเน้นโจมตีไปที่ค่าเงินเยนและเงินดอยช์มาร์คที่อ่อนค่าเกินปกติ เพราะสินค้าของญี่ปุ่นและเยอรมนีขายดีไปทั่วโลก
ช่วงแรกรัฐบาลของนายโรนัลด์ เรแกน ก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน แต่กระแสบีบรัดให้รัฐบาลอเมริกันต้องตอบโต้ก็แรงขึ้นเรื่อยๆ โดยสภาคองเกรสได้ออกกฎหมายโต้ตอบทางการค้ากับสินค้าจากทั้งสองประเทศ และบีบให้รัฐบาลเรแกนต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการตอบโต้ค่าเงินเยนและดอยช์มาร์ค และท้ายที่สุดก็นำไปสู่… “สนธิสัญญาพลาซา”
ในวันที่ 22 กันยายน 2528 ที่โรงแรมพลาซา นครนิวยอร์ค มีการลงนามกันในสนธิสัญญาพลาซา (Plaza Accord) สนธิสัญญานี้เป็นการริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา และได้เชิญอีก 4 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในขณะนั้นมาตกลงกันและร่วมลงนามได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยวัตถุประสงค์ของของสัญญาฉบับนี้ก็คือ ผูกมัดให้ทุกประเทศที่ลงนามต้องร่วมกันแทรกแซงตลาดเงินเพื่อให้ค่าเงินของอเมริกามีค่าอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่นและเงินดอยช์มาร์คของเยอรมนี
ฤา ญี่ปุ่น…จะครองโลก
ในช่วงปี 2528 ถึง 2532 เป็นไปดั่งคาดหมายค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง 51% เมื่อเทียบกับเงินเยน ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี พูดง่ายๆก็คือ เงินเยนแข็งค่าขึ้นเท่าตัว ทำให้เม็ดเงินที่มีต้นทุนถูกจำนวนมหาศาลไหลเข้าญี่ปุ่น เพื่อเก็งกำไรค่าเงินเยนที่ต้องแข็งตัวขึ้น
จากกราฟเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในช่วงปี 2529 – 2533 (ค.ศ. 1986 – 1990) นับตั้งแต่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากระดับสูงกว่า 240 เยนมาสู่ระดับต่ำกว่า 120 เยนต่อดอลลาร์ ดัชนีนิคเคอิจากระดับต่ำกว่า 15,000 จุด ก็ผ่านช่วงดีที่สุดของตลาดหุ้นโตเกียวที่เรียกว่า “51 months of Bubble Boom” โดยดัชนีนิคเคอิขึ้นติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2529 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เป็นระยะเวลา 51 เดือนของการที่ดัชนีนิคเคอิปรับตัวขึ้นโดยตลอด จนทำให้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมโหฬารและทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 38,957.44 ในปี 2532
ธนาคารของญี่ปุ่นหลายธนาคารมีเงินทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลและติดอันดับโลกนับเป็นสิบๆธนาคาร ส่งผลให้ปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนของญี่ปุ่นจำนวนมหาศาลเช่นกัน มีการเข้าซื้อโรงงาน เครื่องจักร อาคาร และอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ราคาบ้านและที่ดินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทิ่ดินในญี่ปุ่นหลายแห่งติดอันดับแพงที่สุดในโลก
ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นได้สร้างอภินิหารให้คนอเมริกันทั้งประเทศอกสั่นขวัญแขวน นับตั้งแต่ที่บริษัทโซนี่ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอิเลคทรอนิกส์ใช้เงิน 4,200 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อโรงถ่ายภาพยนตร์โคลัมเบียพิคเจอร์สในปี 2532 ในปีเดียวกัน บริษัทมัสซูชิตะ เจ้าของแบรนด์เนชั่นแนลและพานาโซนิค ก็ทุ่มเงิน 6,100 ล้านดอลลาร์เข้าซื้อบริษัทเอ็มซีเอ (MCA) ผู้เป็นเจ้าของโรงถ่ายยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ และสิ่งที่ทำให้คนอเมริกัน…ตกตะลึงกันทั้งประเทศก็คือ บริษัทมิตซูบิชิเข้าซื้ออาคารรอคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Building) ใจกลางมหานครนิวยอร์ค หนึ่งในอาคารที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกา
“อาคารรอคกี้เฟลเลอร์” กลางมหานครนิวยอร์ค หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกา
ภาพความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นได้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในภาพยนตร์เรื่อง “Die Hard” ภาคแรก ที่แสดงนำโดยบรูซ วิลลิส โดยเนื้อเรื่องเริ่มต้นที่ชาวญี่ปุ่นเปิดพลาซาที่ยิ่งใหญ่มีชื่อว่า “Nakatomi Plaza” ใจกลางนครลอสแองเจิลลิส ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่ำรวยและยิ่งใหญ่ของบริษัทญี่ปุ่นในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
โมเดลอาคารนากาโทมิพลาซา ในภาพยนตร์เรื่อง “Die Hard” ภาคแรก
ณ เวลานั้น คนเกือบทั่วโลกต่างพากันคิดว่า “ญี่ปุ่น” เจ้าแห่งเศรษฐกิจตนใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว และกำลังจะกลายเป็น “เจ้าโลก” ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยไม่มีผู้ใดจะหยุดยั้งได้
อ่านต่อ…ตอนจบ ในวันพรุ่งนี้นะครับ แล้วพบกันครับ : )
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment