4 สิงหาคม 2559
883 views
ฤา อุตสาหกรรมไก่ไทยจะมาถึง…จุดอวสาน
คอลัมน์: หุ้นส่วน ประเทศไทย
ฤา อุตสาหกรรมไก่ไทยจะมาถึง…จุดอวสาน
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ในอดีตคุณผู้อ่านหลายท่านคงพอจำได้ว่า กว่าจะได้กินไก่สักตัว ก็ต้องรอเทศกาลสำคัญของครอบครัวอย่างตรุษจีนหรือวันเกิด เพราะไก่ราคาแพงมาก แพงเท่าหมูหันเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้ไก่ย่างไม้ละ 20-30 บาท มีขายให้ผู้บริโภคได้ซื้อกินกันแทบทุกตรอกซอกซอย เพราะการพัฒนาของอุตสาหกรรมไก่ในประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า…ขณะนี้อุตสาหกรรมไก่ไทยเริ่มประสบกับปัญหาอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ผมจึงอยากขยายความให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจดังนี้ครับ
หนึ่ง ความสำคัญของอุตสาหกรรมไก่ไทย
อุตสาหกรรมไก่เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งของประเทศไทยที่ฟันฝ่าอุปสรรคมานานับประการจนกระทั่งเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นผู้ส่งออกไก่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศไทยนับแสนล้านบาท และสร้างอาชีพต่อเนื่องให้คนไทยกว่า 2 ล้านคน
ในปี 2547 เกิดเหตุการณ์โรคระบาด“ไข้หวัดนก” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความหวาดวิตกไปทั่ว ผู้คนงดกินไก่กันแทบทั้งประเทศ และทำให้อุตสาหกรรมนี้เกือบจะล่มสลายตายจากบ้านเราไปเลยก็ว่าได้ แต่ในที่สุดประเทศไทยก็ฟันฝ่าวิกฤตครั้งนั้น เรียกว่าสอบผ่านข้อสอบสุดหินมาได้อย่างงดงาม และยังเป็นประเทศเดียวที่ป้องกันโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เคยเกิดไข้หวัดนกอีกเลยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สอง ภัยคุกคามจากต่างประเทศ ที่คนไทย…คิดไม่ถึง
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา บริษัท บี อาร์ เอฟฯ หรือบราซิลฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต และส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รายใหญ่สุดของบราซิลได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท โกลเด้น ฟู้ดส์สยาม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจไก่ครบวงจรและเป็นบริษัทแปรรูปไก่ชั้นนำของไทยที่มีเครือข่ายใน 15 ประเทศทั่วโลก และติด10 อันดับแรกของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่ของไทย และล่าสุดบริษัทโกลเด้น ฟู้ดฯ สยามฯ ก็ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นบริษัท บี อาร์ เอฟ (ไทยแลนด์) จำกัดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย โดยนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ ได้กล่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า “ในปีนี้เป้าหมายการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของสมาคมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 7 แสนตัน มูลค่า 9.1 หมื่นล้านบาท คงยังต้องลุ้น จากยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ส่วนกรณีของบี อาร์ เอฟ จากบราซิลที่เข้ามาเทกโอเวอร์โกลเด้น ฟู้ดส์ สยามซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ที่หลายฝ่ายกังวลว่าเขาจะมาเพิ่มกำลังผลิต ทำให้ไก่ล้นตลาดมากขึ้นอีก เราก็ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้บริหารเขาเหมือนกันเรื่องราคา แต่เรื่องแผนการผลิต และการขยายตลาดถือเป็นความลับของเขา อันนี้ไม่ทราบ แต่หากใครขยายผลิตหรือตั้งโรงงานใหม่ช่วงนี้มองว่าน่าจะเจ็บตัวมากกว่า”
สาม “อากรชำแหละไก่” จุดเริ่มต้น หายนะ…อุตสาหกรรมไก่ไทย
นอกจากปัญหาต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการในประเทศไทยแล้ว ทุกวันนี้อุตสาหกรรมไก่ของไทยยังต้องเผชิญปัญหาที่หนักหนาอีกประการหนึ่งนั่นคือ “อากรชำแหละไก่”
เนื่องจากขณะนี้มีกระแสที่จะเรียกเก็บอากรชำแหละไก่เพิ่มขึ้น โดยจะเรียกเก็บในอัตราสูงถึงตัวละ 4 บาท แบ่งเป็นค่าอากร 2 บาท และค่าธรรมเนียมจำหน่ายเนื้อสัตว์อีกตัวละ 2 บาท นั่นหมายความว่า ประเทศไทยชำแหละไก่ปีละประมาณ 1,400 ล้านตัว จะเกิดเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงถึง 5,600 ล้านบาทต่อปีทีเดียว แล้วประเทศเราจะเอาอะไรไปแข่งขันกับบราซิล และสหรัฐฯ ผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก…กันล่ะ?
ฤาหายนะ!! กำลังจะเกิดกับอุตสาหกรรมไก่ไทย… หากรัฐบาลตัดสินใจเรียกเก็บอากรจริง มันคือการเพิ่มภาระให้ผู้บริโภคภายในประเทศ และลดขีดความสามารถในการส่งออกของประเทศ นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมไก่ทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ไปจนถึง ผู้บริโภค ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สี่ ฤา อุตสาหกรรมไก่ไทยจะมาถึง…จุดอวสาน
เฉพาะประเด็นส่งออกไก่ของประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท… หากไม่มีอุปสรรคใดๆ คาดว่าอุตสาหกรรมไก่ไทยน่าจะนำเงินตราเข้าประเทศได้ถึง 100,000 ล้านบาทในอีกไม่ช้า แต่เมื่อหายนะดังกล่าวมาเยือน ไม่เพียงไทยเราจะไปไม่ถึงฝั่งฝันเท่านั้น แต่ความสามารถในการส่งออกก็จะลดลงจนกระทบรายได้ของประเทศไทยไปด้วย
อย่าลืมว่า ต้นทุนการผลิตของบราซิล และสหรัฐฯ ต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากประเทศแถบนั้นมีวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง ในราคาที่ถูกกว่าไทย ขณะที่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศส่วนหนึ่งอยู่ อุตสาหกรรมไก่ไทยยังต้องรับภาระด้านราคาวัตถุดิบที่สูงกว่าตลาดโลก จากนโยบายคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ในประเทศเราด้วย ประเด็นนี้ทำให้เนื้อไก่ของไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ลำบากมากอยู่แล้ว ลองคิดดูว่าหากเกิดต้นทุนค่าอากรฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามมาอีก คงไม่มีใครสามารถส่งออกไก่ไทยไปแข่งขันสู้ราคากับประเทศอื่นได้ ผู้นำเข้าย่อมหันไปหาบราซิลและสหรัฐเพื่อนำเข้าไก่ทดแทนประเทศไทยอย่างแน่นอน
เมื่อส่วนแบ่งตลาดในเวทีโลกลดน้อยถอยลง ส่งออกไก่ไม่ได้เท่าเดิม เศรษฐกิจของไทยกระทบแน่ แล้วยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ที่ทยอยล้มหายตายจากและเลิกกิจการฟาร์มไปในที่สุด เมื่อไม่มีคนเลี้ยงไก่ ก็ไม่มีคนใช้อาหารสัตว์ มันก็จะกระทบไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์โดยปริยาย สุดท้ายผู้บริโภคปลายทางย่อมต้องรับประทานไก่ในราคาสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
การพัฒนาและมาตรฐานต่างๆที่เกษตรกรไทย ผู้ประกอบการไทย หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในทุกๆรัฐบาลที่ต่างได้ร่วมกันสร้างมา จนกระทั่งอุตสาหกรรมไก่ไทยได้เติบใหญ่อย่างทุกวันนี้ อาจเหลือเพียงแค่ตำนานในประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้น
ฤา นี่…เป็นเพียงเพราะความไม่เข้าใจของคนไม่กี่คนในหน่วยงานรัฐ ที่อาจเห็นแก่…ผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่า…ผลประโยชน์อันมหาศาลของประเทศชาติ
คิดใหม่เถอะครับ!! อุตสาหกรรมไก่เป็นฟันเฟืองสำคัญตัวหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว อย่านำพาอุตสาหกรรมนี้ไปสู่หายนะเลย
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment