17 สิงหาคม 2559
1,395 views
“หุ้น 7 กลุ่ม” อานิสงส์…หลังประชามติ ตอนจบ
คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
“หุ้น 7 กลุ่ม” อานิสงส์…หลังประชามติ ตอนจบ
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
เมื่อวานนี้ เราคุยกันไปแล้วถึง “หุ้น 7 กลุ่ม” ที่น่าจะได้รับอานิสงส์หลังผลประชามติที่ออกมา ซึ่งผมได้เรียงลำดับตามความสำคัญจากหลังมาหน้าได้แก่ อันดับที่ 7 หุ้นสายการบิน อันดับที่ 6 หุ้นกลุ่มโรงแรม อันดับที่ 5 หุ้นกลุ่มก่อสร้าง และอันดับที่ 4 หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ วันนี้…ผมจะขอคุยต่อถึงหุ้นอีก 3 กลุ่ม ดังนี้ครับ
อันดับที่ 3 หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน
เมื่อไม่นานมานี้ เกิดปรากฏการณ์ “พร้อมเพย์” ขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนนำเอาหมายเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือผูกติดกับบัญชีธนาคาร เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินขึ้น ก็จะทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินถูกลงมาก ทำให้ธนาคารต่างๆพลอยเสียโอกาส เพราะได้รับค่าธรรมเนียมลดลงตามไปด้วย แต่ในมุมมองของผม ผมกลับคิดว่าจะเป็นการเปิดโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธนาคารเหล่านี้มากกว่า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทยจำนวนมหาศาลได้หลั่งไหลเข้าระบบอิเลกทรอนิกส์แบงกิ้งส์ไปโดยอัตโนมัติ
ภาพที่คุณผู้อ่านจะได้เห็นต่อจากนี้ไปก็คือ บรรดาธนาคารต่างๆจะพากันทยอยปิดสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะค่าใช้จ่ายในการเปิดสาขานั้นแพงมาก เมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมออนไลน์ ในขณะที่ธนาคารจะต้องผันตัวเองไปเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง หรือการทำธุรกรรมทางการเงินทุกด้าน เช่น การขายตราสารทุน ตราสารหนี้ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และอื่นๆ
ผมเองยังเชื่อว่า ธุรกิจธนาคารยังคงจะอยู่คู่เศรษฐกิจของไทยไปอีกนาน เพียงแต่ว่า…ธนาคารที่ปรับตัวได้เร็ว จะได้เปรียบกว่าธนาคารที่ปรับตัวช้าอย่างมาก และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเข้าซื้อกิจการธนาคารด้วยกันโดยธนาคารในประเทศหรือต่างประเทศ และนั่นจะเป็นโอกาสทองของนักลงทุน เช่น กรณีกลุ่มธนาคาร MUFG จากญี่ปุ่น เข้าซื้อธนาคารกรุงศรีในปลายปี 2556 ที่ราคาหุ้นละ 39 บาท ระดับราคาของหุ้นกรุงศรี (BAY) ในช่วงปลายปี 2554 ก่อนหน้านั้นเพียงสองปียังอยู่ที่ 20 บาทเอง ก็เท่ากับทะยานขึ้นเท่าตัวในระยะเวลาเพียง 2 ปี
อันดับที่ 2 หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล
ในอดีตหุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่ไม่น่าจะพิสมัยสักเท่าใดนัก เพราะโรงพยาบาลขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลไม่ค่อยจะได้ ประกอบกับเตียงผู้ป่วยมีจำกัด การที่จะสร้างรายได้เพิ่ม…จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
แต่ในปัจจุบันบรรดาโรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการปรับเปลี่ยนบิสซิเนสโมเดลในการทำธุรกิจกันขนานใหญ่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) โรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) โรงพยาบาลสมิติเวช และอีกหลายแห่ง ได้ปรับปรุงคุณภาพจนได้รับมาตรฐาน JCI Joint Commission International (JCI) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้สามารถรับผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติได้ จึงทำให้เพิ่มอัตรากำไรได้ และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น หุ้น BH ราคาในปี 2552 อยู่ที่ซัก 20 บาท ราคาเคยสูงไปทะลุ 250 บาท เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน หุ้น BDMS จากราคา 1.70 บาท ในปี 2552 (คิดตามอัตราการแตกพาร์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง) ก็พุ่งขึ้นทะลุ 24 บาทเมื่อไม่นานมานี้ พูดง่ายๆว่าหุ้นเหล่านี้ล้วนเป็น “หุ้นสิบเด้ง” กันถ้วนหน้า
แล้วอะไรล่ะ? ที่ทำให้หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเหล่านี้เติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ คำตอบคือ การเปลี่ยนบิสซิเนสโมเดล BH ช่วงที่ผ่านมาได้พุ่งเป้าไปที่ลูกค้าจากตะวันออกกลาง และเพิ่มยอดลูกค้าชาวต่างประเทศจากประมาณ 10%-20% ในปัจจุบันนี้สัดส่วนลูกค้าชาวต่างชาติได้ขยับขึ้นสูงไปแล้วกว่า 60% ในขณะที่ BDMS ก็ใช้วิธีการเพิ่มยอดขายในลักษณะเดียวกัน แต่ยังเพิ่มการขยายโดยการควบรวมกิจการอีกด้วย จุดเปลี่ยนสำคัญของ BDMS คือการเข้าควบรวมกิจการกับโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล ซึ่งทำให้ BDMS ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
จุดเปลี่ยนสำคัญในอนาคตของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล เรื่องที่ผมคิดว่าจะทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้กลับมาวิ่งแรงอีกครั้งหนึ่งคือ การควบรวมกิจการ ปัจจุบันนี้ BDMS ถือหุ้น BH อยู่ 24% ทางผู้ถือหุ้นใหญ่ BDMS คงอยากที่จะเข้ามาควบรวมกิจการอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดในการรักษาพยาบาลสำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงของเมืองไทย อีกแนวโน้มหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ กลุ่มโรงพยาบาลขนาดยักษ์ใหญ่ของมาเลเซียที่มีชื่อว่า IHH Healthcare ซึ่งเคยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการตลาดในกลุ่มรักษาพยาบาลสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ในช่วงปี 2555 ที่เข้าตลาดหุ้นใหม่ๆ ก็ทำให้หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลของบ้านเราขึ้นกันเกือบยกแผงมาแล้ว IHH ก็คงคิดอยากเข้ามาเมืองไทยเช่นเดียวกัน
อันดับที่ 1 หุ้นกลุ่มค้าปลีก
การเกิดปรากฏการณ์ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อยี่ห้อนี้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้กำไรและราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 10 เท่า ราคาหุ้นเซเว่น (CPALL) ในปี 2551 อยู่ประมาณ 5 บาท ทุกวันนี้ราคาหุ้นอยู่ประมาณ 50 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี คุณผู้อ่านเริ่มสนใจบ้างหรือยังครับ?
ปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ เซเว่นขยายสาขาอย่างรวดเร็วมาก และการขยายสาขาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ยอดขายของสาขาที่มีอยู่เดิมลดลงเลย…แต่กลับเพิ่มขึ้นเสียอีก ซึ่งเราเรียกว่า Same-Store Sales Growth ซึ่งในเวลานั้นเท่ากับว่า เซเว่นได้กำไร 2 เด้ง หนึ่งคือ กำไรจากการเปิดสาขาใหม่ และสองคือ กำไรที่ยังคงเพิ่มขึ้นของสาขาเก่า
อาจกล่าวได้ว่า บิสซิเนสโมเดลที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ เป็นต้นแบบโมเดลของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และทำให้ร้านค้าปลีกเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น โลตัส บิ๊กซี เซเว่น ฯลฯ เติบโตกันแบบก้าวกระโดดมาเป็นระยะเวลาหลายๆปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันนี้เหตุการณ์ดังกล่าวแทบจะไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ขยายสาขาจนเกือบจะเต็มครบรัศมีการจับจ่ายของคนไทยไปหมดแล้ว
แต่สิ่งใหม่กำลังจะเกิดขึ้นนั่นคือ การเกิดปรากฏการณ์สังคมเมือง (Urbanization) ดังที่เคยเรียนคุณผู้อ่านไปแล้วว่า อีก 5 ปีข้างหน้าพวกเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบคมนาคมของเมืองไทย และเมื่อถึงเวลานั้นผู้คนก็จะแห่แหนพากันย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็คงพร้อมที่จะจากชีวิตในชนบทเพื่อเข้ามาตั้งรกรากในเมืองอย่างแน่นอน และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นแรงผลักดันตัวสำคัญที่จะทำให้ “หุ้นกลุ่มค้าปลีก” กลับมาผงาดในตลาดหุ้นบ้านเราได้อีกครั้งหนึ่ง
ท้ายนี้ ชมรมนักลงทุน CSI ม.รังสิต จะจัดสัมมนาภาพยนตร์เรื่อง “Inside Job” ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 โดยมีวิทยากรที่ให้ความรู้คือ ดร.กุลกัลยา พระยาราช จาก สศค. เซียนมี่ (คุณทิวา เซียนหุ้น) และผม ในวันเสาร์ที่ 3 กันยายนนี้ ท่านใดสนใจกรุณาโทรจองที่นั่งได้ที่ 081-173-9000 นะครับ
พบกับเนื้อหาสาระดีๆ..ด้านการลงทุน ทุกวัน…เวลาทุ่มตรง
ได้ที่นี่… www.facebook.com/CsiSociety
เว็บไซต์… www.CsiSociety.com
หากท่านกำลงดูผ่าน…มือถือ อยู่
ก็เพียงกดลิงก์ข้างล่างนี้ เท่านั้นเองนะคะ
http://line.me/ti/p/%40vln9040c
หรือ add line: @CsiSociety
#CsiSociety
ข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นโดย : ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
No Comments Yet
You can be the first to comment!
Leave a comment